หน้าแรก แท็ก ดร.นิเวศน์

แท็ก: ดร.นิเวศน์

การเมืองกับตลาดหุ้น ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
การเมืองกับตลาดหุ้น ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โลกในมุมมองของ Value Investor          9 กุมภาพันธ์ 62   สองสามวันที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวการเมืองที่คนทั่วประเทศต่างก็จับตามองและรู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นและจบลงในเวลาอันสั้น  เหตุผลที่เราตื่นเต้นนั้นเนื่องจากมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและอาจจะมีผลต่อการแข่งขันในการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าหลังจากที่ประเทศไทยห่างเหินจากการเลือกตั้งมานาน  อย่างไรก็ตาม  ตลาดหุ้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูกกระทบอะไรนัก  ดัชนีตลาดเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในช่วงปิดตลาด  และนี่ก็อาจจะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผลกระทบจากการเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นแม้ว่าในทางการเมืองแล้วถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญหรือรุนแรงหรือน่ากลัวก็ตาม   ตัวอย่างของเหตุการณ์สำคัญหรือรุนแรงหรือน่ากลัวในทางการเมืองก็เช่น  การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ชนะเลือกตั้ง  การลดภาษีนิติบุคคลในอัตราสูงของทรัมป์  สงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน   และเรื่องอื่น ๆ  อีกมาก  หรืออย่างในเมืองไทยก็เช่น  การประท้วงของคนเสื้อเหลือง-แดง  การเกิดการรัฐประหาร  การเลือกตั้งใหญ่  เป็นต้น  ทั้งหมดนี้ในระยะสั้น ๆ  มักจะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวแรงในระดับหนึ่งทั้งทางขึ้นและลงขึ้นอยู่กับมุมมองว่าเหตุการณ์ทางการเมืองนั้นจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อการลงทุนและบางทีก็ดูว่าเป็นหุ้นกลุ่มไหนที่จะได้รับผลกระทบ—ในระยะสั้น  ส่วนในระยะยาวนั้น  ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอดเป็นสิบ ๆ  ปีก็มักไม่จะไม่กระทบเท่าไร  เหตุผลก็เพราะว่า  โลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่ประเทศต่าง ๆ  เปลี่ยนหรือยึดถือนโยบาย  “เปิดตลาด”  การค้า  ไม่มีประเทศสำคัญไหนที่นักการเมืองหรือเหตุการณ์ทางการเมืองนำไปสู่การทำลายการทำงานของธุรกิจหรือการค้าขายระหว่างประเทศอย่างที่โลกเคยเกิดขึ้นในสมัยที่ลัทธิคอมมิวนิสต์แพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2   ในเมื่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องถึงธุรกิจของบริษัทต่าง ๆ  ในระยะยาวที่มาจากการเมืองนั้นมีน้อย  ผลกระทบของเหตุการณ์ทางการเมืองต่อตลาดหุ้นในระยะยาวจึงมีน้อยตามไปด้วย  คนที่ลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นจึงไม่ค่อยกังวลอะไรนักกับเรื่องทางการเมือง  ตราบใดที่การเมืองนั้นไม่ทำลาย  “บรรยากาศ”  หรือสภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจของเอกชนในระยะยาวแล้วละก็  เราก็ไม่มีอะไรต้องวิตก  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนนั้นก็คือคนธรรมดาที่อาศัยอยู่ในประเทศ  และการเมืองเองนั้นแม้ว่าจะไม่ทำลายเรื่องของธุรกิจ  แต่มันก็อาจจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราแย่ลงได้  คนนั้นไม่ใช่แค่ว่าขอให้มีเงินแล้วก็มีความสุข  เราต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีซึ่งรวมถึงสภาวะอย่างอื่นเช่น  อากาศที่ดีไม่มีฝุ่นละอองเป็นพิษ  เราต้องการเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น  เราต้องการอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับคนอื่น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้บางทีก็มักจะมาจากการเมือง   ดังนั้น  นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI จึงต้องสนใจการเมือง  การเมืองที่ดีสำหรับคนที่อยู่ในประเทศนั้นก็คือการเมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงซึ่งเคารพสิทธิของคนทุกคนโดยการยอมรับว่าทุกคนนั้นมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย  ไม่มีการบังคับว่าเราทำอะไรได้หรือไม่ได้ถ้าไม่ไปรบกวนคนอื่น  มีระบบเศรษฐกิจที่เปิดและมีการแข่งขันโดยเสรี  และด้วยหลักการแบบนี้  เราก็จะได้รัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่  ซึ่งรัฐบาลนั้นเองจะต้องทำการเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกเขาเข้ามา  และนั่นจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตขึ้นและความเหลื่อมล้ำของคนจะน้อยลง  เพราะถ้ารัฐบาลไหนไม่ทำแบบนั้น  เขาก็จะไม่สามารถได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลได้   แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับแนวทางแบบที่กล่าว  หลายคนไม่อยากให้เสียงส่วนใหญ่เป็นคนกำหนดว่าใครควรเป็นรัฐบาล เขาอาจจะคิดว่ารัฐแบบเผด็จการนั้นสามารถทำงานได้ดีกว่าเพราะผู้นำสามารถ “สั่งได้” การรับฟังคนส่วนใหญ่ที่ “ไม่มีความรู้”  หรืออาจจะ  “เห็นแก่ได้”  หรือ “ถูกหลอก” ให้ลงคะแนนเลือกคนที่ไม่เหมาะสมนั้น  จะไม่สามารถเลือก  “คนดี”  ให้เป็นรัฐบาลได้  แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าแนวคิดแบบประชาธิปไตยนั้นมีความเหนือกว่าระบบเผด็จการอย่างเห็นได้ชัด  และประเทศในโลกก็ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงมาเป็นประเทศแบบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนเหลือแต่ประเทศที่ยัง  “ล้าหลังมาก ๆ”  เท่านั้นที่ยังคงระบบแบบเผด็จการอยู่  และระบบประชาธิปไตยที่ผมพูดนั้นก็คือระบบประชาธิปไตยแบบ  “สากล” ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตามชื่อของรัฐหรือประเทศที่มักจะมีหลักหรือวิธีการที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ  ซึ่งมักจะไม่ใช่ประชาธิปไตยจริง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมคิดว่าไม่มีรัฐหรือประเทศไหนในโลกนี้ที่บอกว่าประเทศตนเองไม่ใช่ประชาธิปไตย แม้แต่ประเทศที่เผด็จการที่สุดก็ยังบอกว่าตนเองปกครองระบอบประชาธิปไตย   แม้กระนั้นก็ตาม  บางคนก็อาจจะเถียงว่าทำไมจีนหรืออาจจะรวมถึงเวียตนามจึงเจริญเร็วมากทั้งที่ระบบของเขาก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย  เขายังพูดต่อด้วยว่าที่เจริญเร็วนั้นเป็นเพราะจีนนั้นเขาสามารถ  “สั่งได้” จึงทำให้มีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ  ผมเองอยากจะเถียงว่าถ้าจีนและเวียตนามเป็นประชาธิปไตยเขาจะยิ่งเจริญเร็วและคนมีความสุขกว่านี้  ว่าที่จริงในสมัยแค่ไม่กี่สิบปีก่อนที่ทั้งสองประเทศยังเป็นเผด็จการอย่างหนักนั้น  เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเขาแย่มาก  คนไทยที่ไปเยี่ยมญาติที่เมืองจีนเมื่อ 40 ปีก่อนนั้นต่างก็รู้ซึ้งถึงความจนและความยากลำบากของญาติที่น่าจะมีศักยภาพเท่าเขา  แต่หลังจากที่จีนและเวียตนามปรับประเทศมาเป็นแบบประชาธิปไตยมากขึ้น  พวกเขาก็เจริญขึ้นอย่างรวดเร็วจนทุกวันนี้คนจีนรวยกว่าคนไทยไปแล้ว  เวียตนามเองก็ตามรอยจีนและในที่สุดก็อาจจะรวยไม่แพ้ไทยถ้าเขาปรับตัวเองเป็นประชาธิปไตยแบบสากลมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากสองประเทศนี้แล้ว  ผมคิดว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้จะเป็นตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุดว่าประชาธิปไตยนั้นเหนือกว่าระบบเผด็จการอย่างชัดเจนเพราะสองประเทศนี้เริ่มต้นพร้อมกันเมื่อประมาณ 70 ปีก่อนที่ทุกอย่างเหมือนกันทั้งเรื่องของคุณภาพของคนและทรัพยากรของประเทศ  แต่เมื่อเวลาผ่านไป  เกาหลีใต้ที่เป็นประเทศประชาธิปไตยแม้ว่าในช่วงแรก ๆ  ยังมีปักจุงฮีเป็นเผด็จการอยู่ในระดับหนึ่ง  แต่หลังจากการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของนายพลชุนดูวานในปี 1980 หรือเกือบ 40 ปีมาแล้วและการกลับมาสู่ระบบประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งประมาณ 5-6 ปีหลังจากนั้น  เกาหลีใต้ก็ไม่มีรัฐประหารอีกเลย  และประเทศก็เจริญขึ้นเร็วมากจนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน  ในขณะที่เกาหลีเหนือนั้นยังคงเป็นเผด็จการมาตลอดจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งก็ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่เจริญเติบโตและระดับการพัฒนาของประเทศในปัจจุบันก็แทบจะถือว่าต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่งยกเว้นในทางทหารที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยทั่วไปเลย   ถ้าประเทศไทยจะเจริญเติบโตต่อไปจนกลายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ใช้ระบบประชาธิปไตยแบบสากลในการปกครองประเทศ  ตัวอย่างในโลกนี้มีเต็มไปหมด  ว่าที่จริงแทบจะไม่มีประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกนี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย  คนที่คิดว่าเรามีวัฒนธรรมและขนบประเพณีเฉพาะตนเป็นเอกลักษณ์และเราไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแบบคนอื่นนั้นผมคิดว่าควรศึกษาประเทศอื่น ๆ  ที่ก็เคยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นเดียวกัน  สำหรับผมแล้ว  ระบอบประชาธิปไตยที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนนั้น  เป็นเรื่อง “สากล”  คล้าย ๆ  กับอีกหลายเรื่องเช่น  การใช้สื่อสังคมดิจิตอล การดูแลสิ่งแวดล้อม  และอื่น ๆ  อีกมาก  โลกทุกวันนี้จริง ๆ  แล้วมี  Civilization หรืออารยะธรรม เดียว  มันหมดยุคอารยะธรรมอียิปต์  อารยะธรรมจีน หรือแม้แต่อารยะธรรมตะวันตกไปแล้วไม่ต้องพูดถึงอารยะธรรมไทย  เดี๋ยวนี้มีแต่ “อารยะธรรมโลก” ที่อาจจะนำโดยกูเกิล เฟซบุค  อะมาซอน และไมโครซอฟท์   ข้อสรุปสุดท้ายของผมเกี่ยวกับเรื่องการเมืองก็คือ  ผมจะคอยดูและวิเคราะห์ตลอดเวลาว่าพัฒนาการทางการเมืองของไทยในระยะยาวจะพัฒนาไปทางไหน  ในบางครั้งผมเองก็กลัวเหมือนกันว่าระบบการปกครองของประเทศไทยอาจจะ  “ถอยหลัง” ไปจากระบบประชาธิปไตยแบบสากลซึ่งจะเป็นอันตรายต่อการลงทุน—และชีวิต  แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้  ผมก็มักจะไม่แคร์และไม่สนใจมากนัก  แต่ถ้าจะให้เข้าไปเล่นหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง  ผมคงไม่ทำ  ผมเองยอมรับว่าตนเองไม่ใช่ “นักสู้”  ที่จะเข้าไปต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองให้เป็นอย่างที่ตนเองต้องการ  แต่เป็นแค่  “นักเลือก” เวลาเขาให้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎร

พอร์ตหุ้นบัฟเฟตต์ :ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
พอร์ตหุ้นบัฟเฟตต์ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   พอร์ตลงทุนหุ้นจดทะเบียนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ  นี้มีความน่าสนใจในแง่ที่ว่ามันอาจจะแสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลาย ๆ  อย่าง  ว่าที่จริงมันคงค่อย ๆ  เปลี่ยนมาพักใหญ่แล้วเพียงแต่ว่าคนที่ติดตามอาจจะไม่ตระหนัก  คนจำนวนมากยังน่าจะจำเรื่องราวต่าง ๆ  ของบัฟเฟตต์จากข่าวสาร  บทความ และการศึกษาเกี่ยวกับบัฟเฟตต์ที่มักใช้ข้อมูลย้อนหลังไปไกลโดยเฉพาะในช่วงที่บัฟเฟตต์ประสบความสำเร็จสูงสุดและร่ำรวยขึ้นมหาศาลจนกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกและยังรวยที่สุดอันดับ 3 ของโลกในวันนี้  แต่จากสถิติผลงานการลงทุนของบัฟเฟตต์ในช่วงอย่างน้อยประมาณ10 ปีที่ผ่านมาคือหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจของอเมริกาในปี 2009 นั้น ก็ดูเหมือนว่าผลงานของเขาจะไม่ได้โดดเด่นหรือมีความมหัศจรรย์อย่างที่เคยเป็นมาในช่วงหลายสิบปีก่อนหน้านั้น  ตัวเลขผลตอบแทนที่วอเร็น บัฟเฟตต์ทำได้นั้นไม่ต่างจากผลตอบแทนของดัชนีตลาดอย่าง S&P 500 หรือ ดัชนีดาวโจนส์คือผลตอบแทนแบบทบต้นที่ประมาณ 14-15% ต่อปี ซึ่งก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่หุ้นทำผลตอบแทนที่ดีมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น ในขณะที่หุ้นในตลาด NASDAQ ซึ่งเป็นกิจการไฮเท็คนั้นให้ผลตอบแทนถึง 17-18% พอร์ตหุ้นของบัฟเฟตต์ที่แสดงหุ้นตัวใหญ่ที่สุด 15 ตัวนั้น พบว่าหุ้นแอบเปิลกลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดจำนวนถึงกว่า4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.2 ล้านล้านบาท ทั้ง ๆ ที่บัฟเฟตต์เคยมีชื่อว่าเป็นคนโลว์เท็ค  โทรศัพท์มือถือก็ยังใช้ของเก่าที่ไม่ทันสมัย  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าหุ้นแนวไฮเท็คอื่น ๆ  นั้น  บัฟเฟตต์ก็ยังหลีกเลี่ยง  นักวิเคราะห์และผู้ติดตามบัฟเฟตต์คิดว่าหุ้นแอบเปิลนั้น  บัฟเฟตต์ไม่ได้ซื้อเพราะมันเป็นหุ้นไฮเท็ค  แต่เขาซื้อเพราะโทรศัพท์ของแอบเปิลนั้นกลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคโดยเฉพาะในอเมริกาและคนรวยในโลกนิยมใช้กันเพราะมันเป็นสิ่งที่เท่และพวกเขาคุ้นเคย  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บริษัทแอบเปิลนั้นมีเงินสดมหาศาลที่จะใช้ในการวิจัยและต่อสู้ในการแข่งขันกับคู่แข่งอย่างมีประสิทธิภาพ  เทคโนโลยีไม่ตกยุคแน่นอน  แต่ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าก็คือ  หุ้นแอบเปิลนั้นมีราคาไม่แพงเลย  ค่า PE นั้นเพียง 10 กว่าเท่าเท่านั้น หุ้นขนาดใหญ่เป็นอันดับสองและอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กลายเป็นหุ้นกลุ่มใหญ่ที่สุดและใหญ่มากจนน่าตกใจก็คือหุ้นของแบ้งค์อเมริกาที่มีขนาดถึงกว่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญหรือ 7 แสนล้านบาท  ซึ่งก็ตามด้วยแบ้งค์อีกตัวหนึ่งที่บัฟเฟตต์ถือมานานมากคือหุ้นแบ้งค์ Wells Farco ที่มีขนาดประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญ  นอกจากนั้นเขาก็ยังมีหุ้นการเงินที่ถือมานานยิ่งกว่าคือตั้งแต่เขาเพิ่งจะดังก็คือหุ้น อเมริกันเอ็กซเพรสที่เขาถืออยู่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญ  ไม่นับหุ้นสถาบันการเงินอื่น ๆ  ที่เป็นหุ้นเพื่อการลงทุนหรือเน้นทางด้านหลักทรัพย์อย่างหุ้นโกลด์แมนซ้าคและเจพีมอร์แกน  รวม ๆ  แล้วใน 15 อันดับนั้น  เป็นหุ้นเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนถึง 7 บริษัท  คิดเป็นมูลค่าหุ้นรวมกันถึงกว่า 7 หมื่น 6 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เหตุผลที่หุ้นในพอร์ตของบัฟเฟตต์เต็มไปด้วยหุ้นการเงินนั้น  ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่บริษัทเหล่านั้นมักจะเคยมีปัญหาที่เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ  ราคาหุ้นตกลงมามโหฬารและต้องการคนเข้ามา “กู้” โดยการเข้ามาซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ที่สามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้  ซึ่งหนึ่งในคนที่มักจะมีเงินสดมากพอในยามนั้นก็คือบัฟเฟตต์  ซึ่งเขาจะเข้ามากู้กิจการโดยการอัดฉีดเงินเข้าไปและทำกำไรได้มากมายเมื่อกิจการฟื้น  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  หุ้นสถาบันการเงินนั้นมักจะมีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง  การที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในจำนวนและปริมาณที่มากซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบัฟเฟตต์ที่มีเงินสดเพิ่มขึ้นมากทุกปีจากการรับปันผลจากบริษัทในอาณาจักรเบิร์กไชร์ก็เป็นไปได้ไม่ยาก  และสุดท้ายก็คือ  หุ้นสถาบันการเงินนั้น  มักจะเข้าเกณฑ์การลงทุนของบัฟเฟตต์ที่ว่ากิจการจะต้องมีความมั่นคงเข้าใจง่ายและสามารถคาดการณ์ได้แม่นยำพอสมควร  ยังสามารถที่จะเติบโตไปได้ในระยะยาว  การที่จะถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีก็ยังยาก  ว่าที่จริงสถาบันการเงินอาจจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วยซ้ำ  และราคาหุ้นสถาบันการเงินเองนั้นก็มักจะไม่แพง  ทั้งหมดนั้นทำให้บัฟเฟตต์ชอบลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ หุ้นตัวใหญ่มากอีกตัวหนึ่งที่บัฟเฟตต์ถือมานานมากและเป็นเคยเป็นหุ้น “สุดรัก” ของบัฟเฟตต์ก็คือหุ้นแนว  “ผู้บริโภค”  ที่ในสมัยก่อนเป็นหุ้นที่ วอเร็น บัฟเฟตต์ ลงทุนมากมายนั่นคือ หุ้นโค๊ก ซึ่งเขาถืออยู่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านเหรียญหรือเกือบ 6 แสนล้านบาท  อย่างไรก็ตาม  หุ้น Consumer ซึ่งเคยเป็น Signature หรือหุ้นที่เป็น “ยี่ห้อ” ของบัฟเฟตต์นั้น  ในระยะหลังๆ  ดูเหมือนว่าจะลดลงมาก  ตัวสุดท้ายน่าจะเป็นหุ้นซอสมะเขือเทศไฮน์ที่เขาลงทุนไปมากแต่ดูเหมือนว่าหลัง ๆ  กลายเป็นหุ้นผู้บริโภคที่เป็นหุ้นที่อิงเทคโนโลยีอย่างหุ้นแอบเปิลมากกว่า รวมแล้วหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 15 อันดับนั้น  มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านเหรียญคิดเป็น 87% ของพอร์ตหุ้นทั้งหมดที่ประมาณ 1.7 แสนล้านเหรียญหรือ 5.4 ล้าน ๆ  บาท  นี่ก็แสดงให้เห็นถึงพอร์ตที่ Focus หรือเน้นหนักมากในหุ้นไม่กี่ตัวของบัฟเฟตต์  ว่าที่จริงหุ้นตัวใหญ่ที่สุดทั้ง 15 ตัวดังกล่าวนั้น  จำนวนไม่น้อยต้องถือว่าบัฟเฟตต์เป็น “เจ้าของ”  เพราะเขาถือหุ้นหลาย ๆ  เปอร์เซ็นต์  ส่วนมากถึงเกือบ 10% ของบริษัท  และกลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุด  ดังนั้น  เขาสามารถที่จะมีบทบาทหรือสั่งการให้ผู้บริหารดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น เช่น  การซื้อหุ้นคืน  ซึ่งมักจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้นได้ นอกจากหุ้นที่ซื้อขายในตลาดแล้ว  พอร์ตหุ้นของบริษัทที่ไม่อยู่ในตลาดของบัฟเฟตต์เองนั้นก็ใหญ่โตไม่แพ้หุ้นในตลาดเช่นกัน โดยหุ้นเหล่านี้ วอเร็น บัฟเฟตต์มักจะถือหุ้นใหญ่เกิน 50%  จำนวนมากถือหุ้น 100% เป็นเจ้าของคนเดียว   หุ้นที่มีขนาดใหญ่มากที่อยู่ในพอร์ตนี้บางบริษัทก็เคยเป็นบริษัทจดทะเบียน  แต่เมื่อบัฟเฟตต์เทคโอเวอร์มา  เขาก็ถอนตัวออกจากตลาด ตัวอย่างหุ้นที่มีมากก็คือหุ้นพลังงานและหุ้นสาธารณูปโภคเช่น  รถไฟ  เป็นต้น  ในขณะที่หุ้นตัวเล็กก็มีหลากหลายนับรวมกันน่าจะเกิน 100 บริษัท  บัฟเฟตต์เองบอกว่าเขาชอบเป็นเจ้าของ 100% ในหุ้นทุกตัวที่เขาซื้อ  แม้แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นถ้าเขาสามารถเป็นเจ้าของ 100% เขาก็อยากทำ  เพราะเขา  “ไม่เล่นหุ้น”  ซื้อแล้วมักจะไม่ค่อยขาย  หรือไม่ก็เก็บไว้นาน  จะขายก็เมื่อพื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนไปจริง ๆ เท่านั้น   หุ้นในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภคเองนั้น  ดูไปแล้วก็ออกนอกแนว  “ซุปเปอร์สต็อก” ที่เรารู้จักและเป็น Signature เดิมของบัฟเฟตต์  แต่ก็คล้าย ๆ  กับสถาบันการเงิน  มันสามารถลงทุนด้วยเงินจำนวนมากได้  มันมีความสม่ำเสมอของรายได้และผลประกอบการ  สามารถคาดการณ์ได้ใกล้เคียงพอสมควร  อนาคตของธุรกิจเองก็ยังเติบโตไปได้ในระยะยาว  การถูกDisrupt หรือทำลายด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็ยังทำได้ยาก  และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ  ราคาหุ้นไม่แพง ข้อสรุปของผมก็คือ  พอร์ตของบัฟเฟตต์บอกเราว่า  การหาซุปเปอร์สต็อกแบบเดิมที่วอเร็น บัฟเฟตต์เคยทำสมัยที่พอร์ตยังมีขนาดเล็กนั้น  ทำไม่ได้แล้ว  เขาต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินขนาดมหึมาในหุ้นแต่ละตัว  การหาหุ้นที่เข้าข่ายนั้นทำได้ยากมาก เพราะหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคุณสมบัติครบรวมถึงยังโตได้นั้นดูเหมือนว่าจะต้องเป็นกิจการใน New หรือ Digital Economy ซึ่งคาดการณ์ยากโดยเฉพาะตัววอเร็น บัฟเฟตต์เองที่ไม่คุ้นเคยกับมันมากนัก   ดังนั้น  สิ่งที่เขาทำในช่วงหลัง ๆ  จึงเป็นเรื่องของการซื้อหุ้นขนาดใหญ่ที่สามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมและยังไม่ถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีใหม่  โดยที่ราคาซื้อนั้นยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงในระดับหนึ่ง  ด้วยแนวทางแบบนี้  การที่จะสามารถทำผลตอบแทนเหนือตลาดมาก ๆ  ก็เป็นไปได้ยาก  แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่  เพราะสำหรับบัฟเฟตต์แล้ว  ต่อจากนี้จนถึงวันที่เขาตาย   ถ้าเขาสามารถรักษาผลตอบแทนที่พอ ๆ  กับตลาดได้  เขาก็น่าจะได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นสุดยอดนักลงทุนที่อาจจะไม่มีใครสามารถลบสถิติได้  อานิสงค์จากผลงานการลงทุนที่ชนะตลาด 10% ต่อปีแบบทบต้นติดต่อกันยาวนานกว่า 50 ปี

ความเสี่ยงของการถูกโกงในตลาดหุ้น :ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
ความเสี่ยงของการถูกโกงในตลาดหุ้น ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   การศึกษาเรื่องของการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น  สิ่งหนึ่งที่มักไม่ได้มีการพูดถึงก็คือ  “การโกง”  หรือการ “ถูกโกง”  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะวิเคราะห์หุ้นที่มีแนวโน้มจะโกงคนที่เล่นหรือลงทุนอย่างไร  ประเด็นก็คือ  การพูดว่าหุ้นตัวไหนมีโอกาสที่จะมีการฉ้อฉลมากน้อยแค่ไหนนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้  ขืนทำก็อาจจะถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ใครจะบอกได้ว่าหุ้นตัวนั้นจะมีโอกาสที่จะมีการโกงกี่เปอร์เซ็นต์?  ดังนั้น  ความเสี่ยงที่หุ้นจะมีการโกงจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีคนคิดหรือพูดถึง  การวิเคราะห์ทุกบริษัทหรือทุกหุ้นนั้นตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าไม่มีการฉ้อฉลภายในบริษัทหรือการแต่งบัญชีหลอกลวง  ราคาหุ้นที่เหมาะสมก็อิงอยู่กับตัวเลขทางบัญชีที่ปรากฏหรือมีการประกาศออกมาโดยบริษัท  แต่ถ้าความเป็นจริงก็คือ  มีการโกงหรือมีการตกแต่งตัวเลขบัญชีภายในบริษัท  ราคาหุ้นที่เหมาะสมก็อาจจะลดลงมาก  คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนก็อาจจะเสียหายหนัก ดังนั้น  โดยหลักทางการเงินและการวิเคราะห์หุ้นที่ถูกต้อง  เมื่อมี “ความเสี่ยง” ว่าอาจจะมีการโกง  สิ่งที่นักวิเคราะห์ต้องทำก็คือ  เขาจะต้อง  Discount หรือลดมูลค่าที่แท้จริงหรือมูลค่าพื้นฐานลง  เช่น  วิเคราะห์ตามตัวเลขแล้วราคาหุ้นที่เหมาะสมควรจะเท่ากับ 100 บาท  แต่เนื่องจากความเสี่ยงที่จะมีการโกงสูง  ราคาอาจจะต้องถูกลดทอนลง 30% เหลือเพียง 70 บาท  แต่ถ้าความเสี่ยงน้อยมาก  ราคาอาจจะลดลงเหลือ 98 บาท หรือไม่ลดเลย  เป็นต้น หน้าที่ของ VI ก็คือ  นอกจากการวิเคราะห์ตามปกติแล้ว  เราจะต้องคิดถึงเรื่องที่ว่าบริษัทอาจจะมีการโกงหรือฉ้อฉลซึ่งจะทำให้มูลค่าที่เหมาะสมเปลี่ยนแปลงไปได้  บางครั้งเปลี่ยนแปลงไปมาก  แน่นอนว่าเราไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดโดยเฉพาะในกรณีที่เรื่องยังไม่ถูกเปิดโปงออกมา  แต่การประเมิน “โอกาส” ที่จะมีการโกงว่าสูงหรือต่ำแค่ไหนจะช่วยให้เราลงทุนในหุ้นอย่างปลอดภัยขึ้น  และต่อไปนี้คือหุ้นที่เราจะต้องคำนึงถึงเรื่องของการโกงมากเป็นพิเศษ  บางเรื่องเป็นลักษณะของธุรกิจเองที่เอื้ออำนวยให้มีโอกาสโกงมากกว่าธุรกิจอื่น  บางเรื่องก็เป็นพฤติกรรมของการบริหารงานของบริษัทหรือการซื้อขายหุ้นของเจ้าของที่อาจทำให้เกิดโอกาสในการโกงโดยที่ไม่สามารถจับได้และดังนั้น  เขาก็อาจจะมีโอกาสที่จะโกงมากขึ้น ธุรกิจ “สีเทา” หรือธุรกิจที่ไม่ใคร่จะ “โปร่งใส” ในเรื่องของการดำเนินงาน  ตัวอย่างเช่น  การประมูลงานของรัฐเช่นการรับเหมาก่อสร้างและการจัดซื้อต่าง ๆ  นั้น  เป็นที่รู้กันว่าจะต้องมีการจ่ายค่าคอมมิชชั่นหรือรายจ่ายต่าง ๆ  ที่ไม่สามารถลงบัญชีตามปกติได้  ดังนั้น  จึงต้องมีการดึงเงินออกมาจำนวนหนึ่งที่จะถูกนำไปจ่าย  ประเด็นก็คือ  ไม่มีใครรู้ว่าเงินนั้นที่จริงแล้วควรเป็นเท่าไร   อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้บริหารหรือเจ้าของอาจจะแบ่งเงินบางส่วนเข้ากระเป๋าตนเองได้โดยที่ไม่มีใครจับได้  ดังนั้น  หุ้นลักษณะนี้จึงต้องมีการ Discount หรือลดมูลค่าลงถ้าเราจะลงทุน ธุรกิจที่มีการซื้อขายกิจการหรือทรัพย์สินให้กับคนอื่นที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทเอกชนที่ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะนั้น  มีโอกาสที่จะเกิดการโกงหรือฉ้อฉลมากขึ้นโดยเฉพาะที่ทำกันในต่างประเทศ  การฉ้อฉลในที่นี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “เงินทอน”  นั่นคือ  ถ้าบริษัทซื้อ  ผู้บริหารอาจจะตกลงซื้อในราคาที่เป็นทางการที่แพงกว่าปกติ  เช่น  จ่ายเงินให้คนขาย100 ล้านบาท  แต่บอกให้คนขาย  “ทอนเงิน” คืนมาให้ 20 ล้านบาทโดยที่เงินทอนนี้เข้ากระเป๋าผู้บริหาร  เป็นต้น  ในทางตรงกันข้าม  ถ้าขาย  ก็ขายในราคาถูกกว่าปกติ  ส่วนต่างนั้นผู้ซื้อต้องจ่ายให้กับผู้บริหาร  เป็นต้น  ทั้งหมดนั้นทำได้เพราะคนที่ขายหรือซื้อเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทเอกชนที่ไม่ต้องรายงานงบบัญชีกับใครและก็ไม่แคร์ว่าเราจะทำอะไรถูกต้องหรือไม่ เขาได้ขายหรือซื้อทรัพย์สินในราคาที่เขาพอใจก็พอแล้ว  ดังนั้น  เวลาเราเจอบริษัทที่มีกิจกรรมดังกล่าวมาก ๆ  เราก็ต้องพิจารณาว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่อาจจะมีการโกงเกิดขึ้น  แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะต้องมีการโกง  แต่เราจะต้องวิเคราะห์ว่าบริษัทไหนน่าสงสัย  และถ้าพบเราก็ต้องระวังและต้อง Discount มูลค่าหุ้นหรือไม่ก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงไม่เกี่ยวข้องกับหุ้นตัวนั้น ธุรกิจบางกลุ่มนั้น  มีความเสี่ยงที่จะถูก  “แต่งบัญชี”  ได้ง่ายกว่าธุรกิจอื่น  การแต่งบัญชีนั้นมักจะทำเพื่อให้บริษัทมีกำไรสูงขึ้น  เพื่อที่จะทำให้ราคาหุ้นในตลาดสูงขึ้น  เพื่อที่เจ้าของหรือผู้บริหารจะได้ขายหุ้นทำกำไรงดงาม  การแต่งบัญชีนั้นจะง่ายขึ้นถ้าธุรกิจขายสินค้าที่มีมาร์จินหรือกำไรต่อยอดขายสูง  วิธีก็อาจจะเป็นว่าบริษัทขายสินค้าให้กับ “นอมินี” หรือตัวแทนที่ไม่เปิดเผย  ซึ่งจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากมาร์จินสูง  ส่งผลให้บริษัทมีกำไรโตขึ้นมากโดยที่ผู้บริหารหรือเจ้าของใช้เงินไม่มากนัก  และเงินที่ใช้ไปนั้นเขาก็สามารถเรียกคืนมาได้จากการขายหุ้นที่มีราคาสูงขึ้นมาก  กรณีแบบนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อราคาหุ้นของบริษัทแพงมาก ๆ  จนคุ้มที่จะทำและผู้บริหารหรือเจ้าของสามารถขายหุ้นจำนวนมากออกมาได้ การแต่งบัญชีเพื่อทำให้ดูมีกำไรสูงขึ้นกว่าปกตินั้น  ยังสามารถทำได้ง่ายกับธุรกิจประเภท  “บินก่อนผ่อนทีหลัง” เช่น  การปล่อยกู้ที่รายได้จะถูกรับรู้ทันทีเมื่อปล่อยเงินออกไปแต่ต้นทุนในการปล่อยกู้บางรายการที่สำคัญเช่น  สำรองหนี้เสียนั้นสามารถเลื่อนออกไปในอนาคตได้นานพอสมควรด้วยเทคนิคต่าง ๆ  ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์การตั้งสำรองและวิธีปรับหนี้ให้กับลูกค้าที่กำลังมีปัญหา   การทำแบบนี้ก็จะทำให้กำไรของธุรกิจจะเพิ่มขึ้นทันทีแต่ในภายหลังกำไรอาจจะลดลงมากเนื่องจากต้นทุนสำรองหนี้เสียจะเกิดขึ้นภายหลังเมื่อลูกค้ากลายเป็นหนี้เสียที่แก้ไม่ได้แล้ว   ดังนั้น  ในการลงทุนหุ้นที่พบว่าอาจจะมีความเสี่ยงดังกล่าว  สิ่งที่เราควรจะทำก็คือการ Discount มูลค่าหุ้นลง  ค่า PE ของหุ้นจะต้องต่ำกว่าหุ้นในธุรกิจคล้ายกันแต่ความเสี่ยงในการแต่งบัญชีน้อยกว่ามาก บริษัทจดทะเบียนบางแห่งที่มีตัวเลขผลประกอบการที่ดูดีมาก ๆ  บางทีเป็นเวลาหลายปีโดยที่เรามองหาเหตุผลไม่ค่อยได้  เช่น เป็นบริษัทที่อยู่ในธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ที่มักมีความผันผวนของกิจการแต่บริษัทนั้นกลับมีผลประกอบการที่ดีและผันผวนน้อยเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่บางครั้งเป็นบริษัทที่ดูเด่นกว่าด้วย  หรือบางบริษัทขายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มักมีการแข่งขันสูงในตลาดแต่บริษัทมีกำไรต่อยอดขายสูงกว่าคู่แข่งมากแบบ “ไม่น่าเชื่อ”  ในกรณีแบบนี้เราก็ต้องดูว่ามันผิดปกติหรือไม่   เราต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมมันจึงเก่งหรือเด่นกว่าคู่แข่งที่มีความสามารถในการแข่งขันพอ ๆ  กัน  นอกจากนั้นคงจะต้องดูต่อว่ามันจะยังดีต่อไปหรือไม่  ถ้าเราวิเคราะห์ดูแล้วก็ยังหาเหตุผลไม่ค่อยได้  มันก็อาจจะมีอีกเหตุผลหนึ่งนั่นก็คือ  มันอาจจะเป็นเรื่องของการแต่งบัญชีหรือการโกง  ดังนั้น  เพื่อความปลอดภัยเราก็ควรจะต้องเผื่อความปลอดภัยหรือมี Margin Of Safety ถ้าจะลงทุนซื้อหุ้นตัวนั้น  หรือพูดง่าย ๆ  ก็คือ  อย่าให้ค่า PE ของหุ้นสูงเกินไป บริษัทจดทะเบียนใหม่ ๆ ในตลาดหุ้นนั้น  บ่อยครั้งเราไม่ค่อยรู้จักผู้บริหารว่ามีพฤติกรรมแบบไหน  มีบรรษัทภิบาลดีแค่ไหน ดังนั้น  โดยเปรียบเทียบแล้วเราควรจะต้องพิจารณาว่าความเสี่ยงของการโกงจะต้องสูงกว่าบริษัทที่มีประวัติที่ดีในตลาดหุ้นมายาวนานกว่ามาก  โดยทั่วไปแล้ว  เวลาผมพิจารณาเรื่องความเสี่ยงในการโกง  ผมมักจะไม่ค่อยชอบผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นที่ “คุยโม้” มากเกินไป  ผู้บริหารที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับหุ้นหรือราคาหุ้นของบริษัทมากเกินไป  การซื้อขายหุ้นของตนเองบ่อยและในจำนวนมากนั้นผมคิดว่ามันน่าจะเพิ่มความเสี่ยงของการโกงหรือการฉ้อฉลขึ้นและเราอาจจะต้อง Discount มูลค่าหุ้นลงมามากขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่ไม่มีพฤติกรรมแบบนั้นหรือมีน้อยกว่า แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกบริษัทที่ทำสิ่งต่าง ๆ  ที่ผมกล่าวจะต้องมีโอกาสที่จะมีการโกงสูงกว่าบริษัทอื่น ๆ  สิ่งที่ผมต้องการสื่อก็คือ เราควรจะต้องระวังมากขึ้นและรอบคอบมากขึ้นในการวิเคราะห์บริษัท  เพราะประวัติศาสตร์ทั้งในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศนั้นบอกให้เรารู้ว่า  ความเสี่ยงในเรื่องของการโกงนั้นมันเป็นความจริงและเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว  ความเสียหายมักจะรุนแรงมาก หลาย ๆ  ครั้งหุ้นกลายเป็นหายนะ  และแม้กระนั้นส่วนมากแล้วก็ยังไม่สามารถจับคนโกงได้ด้วยซ้ำและทำให้ไม่รู้ว่ามีการโกงจริงไหม  เรารู้แต่ว่าผลของมันแทบไม่ต่างกัน

อยู่แล้วรวย :ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
อยู่แล้วรวย ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   ผมเป็นคนที่ชอบอ่าน Quote หรือคำพูดของคนดัง ๆ ของโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน  เพราะคำพูดเหล่านั้นมักจะมีความหมายที่ดีและให้ข้อคิดที่เราสามารถนำไปใช้ได้  นอกจากคำพูดของคนดังแล้ว  ผมก็ยังชอบคำคมที่มีคนเอามาเขียนแสดงให้คนอ่านโดยไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนพูดเพราะมันอาจจะไม่โดดเด่นพอและจริง ๆ  ก็ไม่มีคนรู้ว่าใครเป็นคนพูดคนแรก  คำเหล่านั้นมักถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายรวมถึงที่ติดไว้ท้ายรถบรรทุกและในบ้าน   คำ ๆ  หนึ่งที่ผมเจออยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนักก็คือคำว่า  “บ้านนี้ดี  อยู่แล้วรวย” เพราะผมคิดว่านี่ก็เขียนไปเพื่อที่จะทำให้คนอยู่สบายใจโดยที่ความเป็นจริงนั้นคงไม่ได้เกี่ยวกับป้ายหรือคำพูดนี้  เพราะคนที่อยู่บ้านนี้ถ้าไม่ได้ทำงานหรือลงทุนอย่างฉลาดและขยันขันแข็งเขาก็คงไม่รวยเพราะอาศัยอยู่บ้านหลังนี้  มันไม่เกี่ยวกัน แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจก็คือคำว่า  “อยู่แล้วรวย”  โดยที่ไม่ต้องพูดถึงบ้าน  คำว่า “อยู่” ในที่นี้ก็คือ “การมีชีวิตอยู่”  เหตุผลที่ผมคิดว่าถ้าเรายังมีชีวิตอยู่แล้วละก็  เราก็รวย  เพราะในปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งในการลงทุนก็คือ “ระยะเวลาของการลงทุน”  โดยที่สูตรของความมั่งคั่งก็คือ  ความมั่งคั่งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือหนึ่ง  เงินต้นหรือเงินเริ่มต้น  สอง  ผลตอบแทนจากการลงทุนแบบทบต้นต่อปี  และสามก็คือ ระยะเวลาการลงทุนคิดเป็นปี  ถ้าปัจจัยทั้งสามนั้นมีมาก  คน ๆ  นั้นก็จะรวย  แต่ถ้ามีน้อย  คน ๆ  นั้นก็จน  ซึ่งผมมักจะเปรียบปัจจัย 3 ประการนั้นว่าเป็น  แก้ว 3 ดวงหรือแก้ว 3 ประการของการลงทุน  โดยที่ปัจจัยแต่ละอย่างนั้นจะมีมากหรือน้อยบางเรื่องก็ขึ้นอยู่กับ  “ดวง”  หรือ “โชคชะตา” ด้วย  แต่ทุกดวงหรือทุกเรื่องนั้นก็ต้องอาศัยความพยายามของเราที่จะทำให้มันเพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของ “เงินต้น” ในการลงทุนนั้น  บ่อยครั้งขึ้นอยู่กับดวงไม่น้อย  เหตุเพราะว่าคนจำนวนไม่น้อยมีครอบครัวหรือพ่อแม่ที่ร่ำรวย  หรือบางคนก็โชคดีถูกรางวัลใหญ่หรือได้รับมรดก  หรือที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าก็คือ  การได้แต่งงานกับคนรวยหรือเศรษฐี  แบบนี้ก็อาจจะทำให้รวยได้โดยไม่ต้องทำอย่างอื่น  แต่หากว่าเราไม่โชคดีแบบนั้น  วิธีการที่จะเพิ่มเงินต้นมีทางเดียวก็คือการทำงานอย่างฉลาด  ทำงานหนัก และก็อดออมให้มากอย่างน้อยที่สุดก็ต้อง 15% ของรายได้ขึ้นไป    ในส่วนของการลงทุนที่จะให้ได้ผลตอบแทนทบต้นที่ดีนั้น  ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับโชคแต่ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและความพยายามของเรา  รวมถึงความเสี่ยงที่เราจะต้องกล้ารับด้วย  เพราะถ้าเราไม่รับความเสี่ยงเลยหรือรับได้น้อยมาก  การที่เราจะมีความมั่งคั่งหรือมีเงินพอที่จะเกษียณอายุได้อย่างมีความสุขเพราะมีเงินดูแลตัวเองก็เป็นไปได้ยาก ในเรื่องของการลงทุนนั้น  มีหลายแนวทางที่จะทำ  ถ้าต้องการความปลอดภัยสูงไม่อยากรับความเสี่ยงเลย  เช่นเงินออมส่วนใหญ่ฝากอยู่ในสถาบันการเงินหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาล  ผลตอบแทนต่อปีก็จะต่ำมาก  ถ้าเราต้องการสร้างความมั่งคั่งให้สูงขึ้นก็อาจจะต้องทำงานเรื่องการลงทุนหนักขึ้น กล้ารับความเสี่ยงมากขึ้น  เช่น ลงทุนในหุ้นมากขึ้น   โชคดีที่ว่าเราสามารถที่จะลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดหุ้นซึ่งจะทำให้เราไม่ต้องใช้ความสามารถในการเลือกหุ้นเองและในระยะยาวก็มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศที่ปกครองในระบบทุนนิยมและมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การลงทุนในตลาดหุ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องออกแรง  ต้องใช้ความพยายามโดยเฉพาะถ้าเราเลือกหุ้นลงทุนเอง และทั้งหมดนั้นก็เป็นความเครียดที่เราจะต้องรับ วิธีเพิ่มเงินหรือความมั่งคั่งข้อสุดท้ายก็คือการ “เพิ่มเวลาในการลงทุน” นั้น  ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุดและน่าจะมีความเครียดน้อยที่สุด  นอกจากนั้นมันแทบไม่ต้องอาศัยความสามารถอะไรเป็นพิเศษใคร ๆ  ก็สามารถทำได้   แต่คนกลับสนใจหรือใช้มันน้อยมาก  เหตุผลอาจจะเป็นเพราะว่าผลลัพธ์ของมันจะมาอย่างช้า ๆ  บ่อยครั้งเราแทบไม่รู้ตัว  เรามักจะสนใจอะไรต่าง ๆ  ในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีหรือน้อยกว่านั้น  การบอกว่าเงินหรือพอร์ตการลงทุนจะโตเร็วขึ้นแบบ “ทวีคูณ” และใหญ่ขึ้นมากถ้าเราลงทุนแบบทบต้นโดยไม่ถอนเงินออกมาใช้เลยเป็นเวลาซัก 10 ปี 20 ปีหรือ 30 ปีขึ้นไปนั้น  มันทำให้คนที่คิดจะทำ  “หมดไฟ” หรือหมดความตื่นเต้นตั้งแต่ปีแรก ๆ  หรือบางทีตั้งแต่รับรู้หรือได้รับฟังมา  คนมักจะคิดว่ามัน  “ยาวเกินไป  ยังไม่อยากคิด”  ตอนนี้ขอทำเงินโดยการหาหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก”  หรือไม่ก็เล่นหุ้นที่กำลังร้อนแรงซึ่งอาจทำกำไรได้ปีละ 100% ก่อน ผมเองทุ่มเทเวลาศึกษา  ทำงานหนักเกี่ยวกับการลงทุน  รับความเครียดมานาน  และก็ “ประสบความสำเร็จ” ในการลงทุน ตลอดเวลากว่า 20 ปี นั้นผลตอบแทนแบบทบต้นที่ได้รับสูงมากจนแทบไม่น่าเชื่อ  ความสำเร็จที่ได้รับนั้นผมคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพราะตนเอง  “โชคดี”  เพราะตลาดหุ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นดีมาก  และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  หุ้นที่ลงทุนซึ่งก็คือหุ้น “VI” ขนาดเล็กถึงกลางนั้นมีการเติบโตขึ้นมหาศาลจนกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่หรือขนาดยักษ์ของตลาด  ทำให้พอร์ตเติบโตขึ้นมโหฬารจนเปลี่ยนชีวิตตนเองได้  จริงอยู่  ความสามารถในการเลือกหุ้นลงทุนก็ส่วนอยู่พอสมควร  แต่สิ่งที่สำคัญก็คือการที่เรา “ยืนหยัด” ลงทุนอยู่ในตลาดหุ้นตลอดเวลากว่า 20 ปีโดยแทบไม่ได้ถอยออกจากตลาดเลยแม้ในยามที่ตลาดเลวร้ายบางครั้งเป็นวิกฤติ   และทำให้ข้อสรุปถึงความสำเร็จของผมที่ผ่านมานั้น  นอกจากเรื่องของการที่สามารถเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนแบบทบต้นแล้วก็คือการเพิ่มขึ้นของเวลาการลงทุน ถึงวันนี้เองผมคิดว่าการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นสูงเหมือนเดิมนั้นน่าจะเป็นไปได้ยากมาก  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เราคงไม่โชคดีซ้ำสองที่จะมีตลาดหุ้นที่บูมหรือเป็นกระทิงมายาวนานเป็นสิบ ๆ ปี  เราคงไม่มี “หุ้น VI”  ราคาถูกมากที่คนไม่รู้จักและไม่สนใจที่เปิดโอกาสให้เราลงทุนในราคาถูกเหลือเชื่อและให้ผลตอบแทนสูงลิ่วติดต่อกันเป็นสิบ ๆ ปี  ปัจจัยของความมั่งคั่งข้อสองหรือดวงแก้วดวงที่สองนั้นดูเหมือนเราจะเร่งให้สว่างยากขึ้นมาก  ปัจจัยข้อที่หนึ่งหรือดวงแก้วดวงที่หนึ่งคือเงินต้นนั้น  มันหยุดไปนานมากแล้วหลังจากที่ผมเลิกทำงานประจำและแทบไม่มีรายได้อะไรอย่างอื่น  ดังนั้น  สิ่งที่ผมยังเหลืออยู่จริง ๆ  ที่ผมจะสามารถใช้มันได้โดยที่แทบไม่ต้องอาศัยความพยายามหรือการทำงานหนักก็คือเวลาของการลงทุน พูดง่าย ๆ  สิ่งที่ต้องทำก็คือ  พยายาม  “อยู่”  ต่อไป  ถ้าถึงปีหน้าผมยังมีชีวิตอยู่  ผมก็อาจจะรวยขึ้นไปอีกหลาย ๆ ล้านบาท  ไม่ต้องพยายามไปทำงานหารายได้อื่น  ไม่ต้องพยายามไปหาหุ้นลงทุนที่เหนื่อยยาก  ไม่ต้องเครียด วิธีการเพิ่มเวลาของการลงทุนนั้นมีไม่กี่อย่างและเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก  ข้อแรก  เราต้องเริ่มลงทุนตั้งแต่วันแรกที่มี “เงินตั้งต้น” ที่มักจะมาจากการทำงานและออมไว้  ข้อสอง  ต้องลงทุนตลอดเวลาไม่หนีจากตลาดไม่ว่าภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร หุ้นจะขึ้นหรือลง  หุ้นจะบูมหนักเป็นกระทิงหรือตกหนักเป็นวิกฤติ  เราก็ต้องอยู่กับตลาดหุ้น  ข้อสาม ยืดเวลาของการลงทุนโดยการยืดอายุขัยของเรา  ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ  รักษาสุขภาพให้ดีที่สุดโดยการออกกำลัง  กินอาหารที่ดี  อยู่ในบรรยากาศที่บริสุทธิ์  และลดความเครียดในชีวิต  ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากและเราไม่ต้องมีความสามารถอะไรเป็นพิเศษเพียงแต่ต้องอาศัยวินัยที่มั่นคง สำหรับคนที่มีความทะเยอทะยานอยากรวยหรือมีความมั่งคั่งหรือมั่นคงในชีวิตทั่วไปแล้ว  ผมคิดว่าพวกเขาต่างก็พยายามเร่งหารายได้จากการทำงานและออมเงินในสัดส่วนที่มากพร้อมกับการลงทุนอย่างทุ่มเทเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีเยี่ยม  ผมเองคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ดีแต่เราก็ไม่จำเป็นต้อง “เร่ง” ทำมากเกินไป  เหตุผลเป็นเพราะว่ามันเป็นกิจกรรมที่มี “ต้นทุน” สูง  เราอาจจะต้องเสี่ยงมากกว่าปกติและชีวิตก็อาจจะเครียดเกินไป  การใช้ปัจจัยข้อที่สามคือเพิ่มเวลาหรือใช้เวลาในการลงทุนให้ยาวขึ้นและยาวที่สุดนั้นจะสามารถทำให้เราไปถึงที่หมายได้เช่นเดียวกันโดยที่เราไม่ต้องเสี่ยงและเคร่งเครียดมากเกินไปจะดีกว่า  ผมเองเคยแต่คิดว่า  “สู้แล้วรวย” มานานมาก  แต่หลังจากกลายเป็นนักลงทุน  ผมกลับชอบ  “อยู่แล้วรวย” มากกว่า

บทเรียนที่ไม่จำ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
บทเรียนที่ไม่จำ โลกในมุมมองของ Value Investor          2 กุมภาพันธ์ 62 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร   “Insanity is doing the same thing over and over again and expecting different results” นั่นเป็นคำพูดที่คนชอบอ้างว่าเป็นของอัลเบิร์ท ไอสไตน์ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจน  ความหมายก็คือ  “เป็นเรื่องไร้เหตุผลมากที่เราจะทำสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าและหวังว่ามันจะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม”  ถ้าจะอธิบายเพิ่มเติมก็คือ  ถ้าคุณต้องการผลลัพธ์ใหม่  คุณก็ต้องทำแบบใหม่  ทำแบบเดิมก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม  อย่าไปหวังว่ามันจะได้ผลลัพธ์ใหม่  ในทางวิทยาศาสตร์นั้น นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ในทางสังคมศาสตร์หรือในทางเศรษฐศาสตร์แล้วมันไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์  บางครั้งการทำแบบเดิมแต่อาจจะได้ผลลัพธ์ใหม่  เช่น  เคยเล่นหุ้นสั้น ๆ  รายวันแบบเก็งกำไรบางทีหรือบางช่วงก็ขาดทุน  แต่บางครั้งหรือบางช่วงก็กำไร  อย่างไรก็ตาม  ในระยะยาวถ้าเราทำซ้ำ ๆ  สุดท้ายเราก็จะต้องขาดทุน  คำถามก็คือ  ทำไมนักลงทุนหรือคนเล่นหุ้นก็ยังชอบเล่นเก็งกำไรแบบสั้น ๆ  วันต่อวัน?  เล่นมาแล้วเป็นสิบ ๆ  ปีก็มีและส่วนใหญ่ก็ขาดทุนมาตลอด  แต่เขาก็ยังหวังว่าเขาก็จะได้กำไรจากการทำแบบเดิม ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ที่ส่งผลมาจากยีน  เรื่องแรกก็คือ  ยีนของคนเรานั้นบอกให้เรา  “เก็งกำไร” เป็นยีนของ  “นักเสี่ยงโชค”  ทุกครั้งที่เราทำ  เราจะรู้สึกตื่นเต้นสนุกสนาน  และถ้าทำแล้วได้กำไร  เราก็จะมีความสุข  รู้สึกว่า“เราชนะ” ถ้าทำแล้วขาดทุน  เราก็มีความทุกข์  รู้สึกว่า “เราแพ้” แต่เราก็ไม่ได้หมดตัวหรือต้องลำบากอะไรมากนัก   เราหวังว่าคราวหน้าจะต้อง “แก้มือ”  เราจะต้องชนะด้วย  “หุ้นตัวใหม่”  และ “ภาวะตลาดหุ้นใหม่” ที่ดีขึ้น  แต่วิธีการลงทุนหรือการซื้อขายหุ้นก็ยังเป็นแบบเดิมคือซื้อมาและขายไปในระยะเวลาอันสั้น  ...

วิกฤติอากาศ : ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
โลกในมุมมองของ Value Investor      25 มกราคม 62 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร วิกฤติอากาศ   ผมเพิ่งกลับจากการพูดในการสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนแบบ VI ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย  และก็แน่นอนว่าผมได้มีโอกาสท่องเที่ยวเล็ก ๆ  น้อยในเมืองหลวงแห่งนี้  ภาพทั่ว ๆ  ไปของ KL ในความรู้สึกของผมก็คือ  มันเป็นเมืองที่ถูกออกแบบมาค่อนข้างดี  อานิสงค์จากการที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม  ถนนหนทางมีมากซึ่งทำให้รถไม่ค่อยติดยกเว้นบางจุดใจกลางเมือง  ตึกรามเก่าที่มีศิลปะเฉพาะมีกระจายไปทั่วเมืองควบคู่ไปกับตึกระฟ้าที่ทันสมัย สถานที่ท่องเที่ยวสำหรับประชาชนที่รัฐสร้างขึ้นเช่น “สวนนกแบบเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก”  ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนในช่วงสั้น ๆ  นั้น  ดูดีและห่างจากใจกลางเมืองแค่รถวิ่ง 15 นาที  ดูเหมือนว่ารอบ ๆ  เมือง KL นั้น  ยังมีต้นไม้เต็มไปหมดคล้าย ๆ  กับ  “ป่า” แต่ที่สำคัญที่ผมพยายามสังเกตหลังจากที่กรุงเทพต้องประสบกับปัญหาหมอกควันรุนแรงก็คือ  บนท้องฟ้าที่ดูสดใสเป็นสีฟ้าสลับกับเมฆสีขาวที่เห็นขอบเขตอย่างชัดเจน  เวลาเดินกลางแดดก็จะพบว่ามันร้อนเปรี้ยงเพราะไม่มีหมอกมาบดบัง  โดยรวมแล้วผมคิดว่า KL เป็นเมืองที่น่าอยู่และสมศักดิ์ศรีของการที่จะเป็นเมืองหลวงของประเทศที่ใกล้จะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว กลับมากรุงเทพในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาผมพบว่ากรุงเทพนั้นมีอาการที่น่าห่วงมาก  อากาศน่าจะเต็มไปด้วยมลพิษเนื่องจากฝุ่นละอองจากควันของไอเสียรถยนต์และฝุ่นดินที่มาจากการก่อสร้าง  การเผาขยะ  และอื่น ๆ  อีกมาก  มองขึ้นไปบนฟ้าก็พบว่ามันขมุกมัวไม่ชัดเจน  อาคารที่อยู่ไกลออกไปก็จะมองไม่ค่อยเห็น  สีของฟ้านั้นเป็นสีขาวของหมอกควันพิษและมองแทบไม่เห็นเมฆ  “ผู้เชี่ยวชาญ” และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องบอกว่ามันเกิดเนื่องจากอากาศไม่ถ่ายเทเพราะไม่มีลมอันเป็นผลจากฤดูกาล  “รอสักระยะเมื่อลมมาแล้วมันก็จะหายไป”  ตอนนี้ก็ต้องอดทนแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ปัญหาอยู่ ตัวเลขความรุนแรงของมลภาวะถูกนำมาประกาศวันต่อวัน  ดูเหมือนว่ามันกำลังจะดีขึ้นแต่แล้ววันต่อมาก็อาจจะเลวลงอีก การแก้ไขปัญหาที่ทำอยู่นั้นผมดูแล้วแทบจะไม่มีผลต่อมลภาวะเพราะมันอาจจะแก้ไม่ถูกจุดจริง ๆ   ผู้รู้บางคนบอกว่าตัวการสำคัญที่สุดคือรถโดยเฉพาะที่ใช้น้ำมันดีเซล  แต่การแก้ปัญหาเรื่องหนึ่งก็คือจะพิจารณาให้มีน้ำมัน B20 ที่ผสมน้ำมันปาล์มมากขึ้นเป็น 20% ในน้ำมันดีเซล  แต่นี่ดูเหมือนว่าจะลดควันเสียได้น้อยมากและคงใช้เวลาอีกเป็นสิบ ๆ ปีกว่าจะเห็นผล  บางคนก็เสนอให้ใช้น้ำฉีดจากตึกสูงเป็นละอองเพื่อดักจับฝุ่น   บางคนก็เอาน้ำมาล้างถนนเพื่อลดฝุ่น  แต่ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าคงแก้ไขหรือลดมลภาวะอะไรไม่ได้ ผมคิดว่าอากาศกรุงเทพนั้นแท้จริงแล้วอาจจะเลวร้ายมานานและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ   ฤดูกาลอาจจะมีส่วนบ้าง  เช่นช่วง “หน้าหนาว”  ซึ่งอากาศเย็นลงมาปกคลุมและไม่ค่อยมีลมจะเป็นช่วงที่อากาศแย่ที่สุด  ในช่วง “หน้าร้อน” ที่มีลมพัดแรงและช่วง “หน้าฝน” ที่มีฝนตกเกือบทุกวันนั้น  ภาวะอากาศเสียฝุ่นละอองอาจจะน้อยลงไปเพราะลมหอบฝุ่นไปที่อื่นและฝนตกช่วยจับฝุ่นลงมาอยู่บนพื้นดิน   ที่จริงแล้วเราอาจจะดูดหรือหายใจเอาฝุ่นละอองที่อันตรายเข้าปอดมานานแล้วแต่เราไม่รู้เพราะร่างกายมักจะไม่แสดงอาการอะไรออกมาทันที  มันอาจใช้เวลาเป็นปี ๆ  หรือหลายสิบปีก่อนที่เราจะเจ็บป่วย  ดังนั้น  เราไม่ตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในอันตรายในเรื่องของสุขภาพ  จนกระทั่งปีนี้ที่มลภาวะอากาศรุนแรงประกอบกับสื่อในยุคดิจิตอลที่กระจายข่าวสารไปได้แพร่หลายและเร็วมากได้ทำให้คนเริ่มรู้ถึงอันตรายของการสูดเอาอากาศที่มีฝุ่นโดยเฉพาะที่เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากที่มองไม่เห็นและสามารถลอยตัวอยู่ในอากาศที่เรียกว่า PM2.5   การออกมาประกาศว่าระดับของ PM2.5 ในกรุงเทพในช่วงเร็ว ๆ  นี้สูงเกินกว่ามาตรฐานที่ 50 หน่วยมาก  เช่น  บางวันเกิน 100 นั้น  ได้ทำให้หลายคนรวมถึงตัวผมเองตื่นตระหนก เราจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะนี้โดยเฉพาะบ้านผมที่มีเด็กอายุยังไม่ถึง 2 ขวบซึ่งหมอบอกว่าเป็นคนที่เสี่ยงที่สุดเพราะปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ในฐานะของคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายโดยเฉพาะถ้าคนที่พูดนั้นมี Conflict of Interest หรือมีแรงจูงใจที่จะทำให้คนฟังแล้วเชื่อในอีกแบบหนึ่ง  นอกจากนั้น  ผมก็ยังต้องระวังว่าคนที่พูดนั้นอาจจะไม่รู้จริงและอาจจะคิดว่าตนเองรู้เพราะ “ใคร ๆ  เขาก็คิดแบบนั้น”  ดังนั้น  ผมจึงพยายามศึกษาและทดลองดูตามหลักวิทยาศาสตร์โดยมีเป้าหมายว่า  เราจะหลีกเลี่ยงภาวะเลวร้ายของอากาศนี้ได้อย่างไร?  ในยามที่การแก้ไขในระดับเมืองซึ่งมักต้องอาศัยพลังหรืออำนาจรัฐนั้นยังไม่เกิดผล เรื่องแรกที่ผมคิดและทำก็คือ  ความรุนแรงของมลภาวะ สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องรู้มิฉะนั้น  เราจะไม่สามารถบอกได้ว่ามันร้ายแรงแค่ไหนและเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงมัน   สิ่งจำเป็นสำหรับเรื่องนี้ก็คือ  เราต้องมีเครื่องวัดค่าคุณภาพของอากาศหรือค่า AQI แบบพกพา  การดูจากเวบไซ้ต์นั้น  บางทีก็มีประโยชน์น้อยและบางแห่งอาจจะเชื่อถือไม่ได้เพราะมันอยู่ห่างจากจุดที่เราอยู่และมันอาจจะติดตั้งในระดับที่ไม่ใช่ระดับที่เราหายใจ  การมีเครื่องวัดที่ติดตัวหรือใกล้กับตัวเรานั้นจะทำให้เรารู้ว่าเราจะทำอย่างไร  เช่น  จะหนีไปให้พ้นหรือใช้หน้ากากกันฝุ่นเป็นต้น  จากการวัดค่า AQI พกพาของผมนั้น ผมพบว่าทุกครั้งมีค่าสูงกว่าค่าที่อ่านจากเวบไซ้ต์มาก  บางครั้งเกิน 50% นอกจากเรื่องค่า AQI แล้ว  เรามักจะได้รับคำบอกเล่าหรือคำแนะนำผิด ๆ  โดยที่เราไม่รู้  ตัวอย่างเช่น  ให้อยู่ในบ้านในยามที่อากาศเสียหนัก ๆ   อย่าไปออกกำลังในที่โล่งหรือริมถนน  ถ้าทำในสวนสาธารณะอากาศก็จะดีกว่าเพราะต้นไม้ช่วยซับอากาศเสีย  ผมเองในช่วงแรก ๆ  ที่เกิดข่าวเรื่องอากาศเป็นพิษ  ผมได้เปลี่ยนไปออกกำลังในยิมที่เป็นร้านฟิตเนสจนกระทั่งมาค้นพบว่าอากาศในยิมก็สกปรกพอ ๆ  กับข้างนอก  ประเด็นของผมก็คือ  หลังจากที่ผมสงสัยในทฤษฎีของผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ทั้งหลายที่แนะนำวิธีการหลีกเลี่ยงอากาศเสีย  ผมก็นำเครื่องวัดอากาศไปวัดทุกแห่งที่ผมไป  ผลปรากฏว่าทุกแห่งหนนั้น คุณภาพอากาศใกล้เคียงกันหมด  ทั้งในบ้าน  ในสวนและบนทางเท้าริมถนน  เช่นเดียวกับในช็อปปิ้งมอลหรู  ว่าที่จริงถ้าเราคิดถึงหลักทางวิทยาศาสตร์ว่าอากาศนั้นไปได้ทุกแห่งและฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศก็ไปตามอากาศแล้ว  ที่ไหนมีอากาศที่นั่นก็น่าจะมีฝุ่นพอ ๆ  กัน ผมค้นพบอีกว่า  วิธีที่จะหลีกเลี่ยงฝุ่นก็คือ  การอยู่ในบ้านหรืออาคารที่ปิดประตูหน้าต่างมิดชิดแล้วเปิดเครื่องกรองอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กเช่น PM2.5 ได้  และถ้าเราอยู่ในที่เปิดโล่งหรือในอาคารที่คนเข้า ๆ  ออก ๆ  และไม่มีเครื่องกรองอากาศ  วิธีที่น่าจะสามารถป้องกันฝุ่นจะอยู่ที่การสวมหน้ากากที่ป้องกันฝุ่นขนาด PM2.5 ได้เท่านั้น  และต้นไม้ในสวนนั้นไม่สามารถที่จะดูดซับฝุ่นได้และอากาศในสวนเองนั้นก็น่าจะถ่ายเทหรือไหลมาจากที่อื่น  ผมเองไม่รู้ว่าการสวมหน้ากากจะป้องกันฝุ่นได้ 90% ขึ้นไปตามที่มีคนพูดหรือไม่  แต่การใช้เครื่องกรองฝุ่นในบ้านที่ปิดค่อนข้างมิดชิดอย่างที่บ้านผมนั้นสามารถกรองฝุ่นได้เกือบ 100%  ค่า AQI ที่วัดได้นั้นอยู่ระหว่าง 0-4 เมื่อเปิดนานพอในขณะที่อากาศข้างนอกค่า AQI อยู่ที่ 100 กว่า ถึงวันนี้  ผมเองไม่แน่ใจว่ากรุงเทพจะมีวันที่อากาศมีคุณภาพดีจริง ๆ หรือเปล่า   เราคงต้องติดตามไปเรื่อย ๆ  จนครบทุกฤดูกาล  ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยเฉพาะในระยะยาว ในสมัยที่โลกยังไม่เจริญและประเทศผู้นำอย่างอังกฤษเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเติบโตเร็วมากจนถึงวันหนึ่งก็พบว่าสภาพแวดล้อมทั้งน้ำและอากาศเลวร้ายมาก  หลังจากนั้นพวกเขาก็เริ่มตระหนักและแก้ไขจนกระทั่งประสบความสำเร็จและนี่ก็คือประเทศที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างแท้จริง  ประเทศไทยเราเอง  ถ้าจะนำชาติไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว  การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะต้องเป็นหนึ่งในกระบวนการนั้น ในระหว่างที่ยังไปไม่ถึง  หน้าที่ของเราก็คือ  อย่าสร้างมลภาวะโดยไม่จำเป็นและปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยนี้เท่าที่จะทำได้ ผมเองคิดว่าบางทีเราอาจจะต้องทนและยอมรับการสูดอากาศที่ไม่สะอาดในช่วงที่จำเป็น  แต่ในช่วงที่อยู่บ้านและตอนนอนหรือตอนออกกำลัง  เราอาจจะต้องอยู่ในอากาศที่บริสุทธิเพราะมีการกรองอากาศอย่างดีเพื่อชดเชย  ด้วยวิธีการนี้  ร่างกายของเราก็อาจจะรับได้  การไม่ทำอะไรเลยและ “เชื่อ” ข้อมูลของหน่วยงานโดยเฉพาะที่พยายามบอกว่า “อากาศดีแล้ว”  ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่ดีและเป็นความเสี่ยงที่คาดการณ์ไม่ได้

ความเป็นไป(ไม่)ได้ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
ความเป็นไป(ไม่)ได้ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร โลกในมุมมองของ Value Investor    นักลงทุนที่ดีนั้น  นอกจากวิชาความรู้ในด้านต่าง ๆ  แล้ว  วิชาความรู้ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของสถิติและความเป็นไปได้หรือ Probability  และความผันแปรหรือ Variation หรือความคลาดเคลื่อนจากสิ่งที่คาดการณ์  หลักทฤษฎีเกี่ยวกับการเงินและการลงทุนนั้น  ต่างก็อาศัยวิชาความรู้นี้เป็นอันมาก  เหตุผลก็เพราะเรื่องของการลงทุนนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับการพยากรณ์อนาคตซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงและโอกาสที่เหตุการณ์ในอนาคตจะออกมาแตกต่างจากที่คาดการณ์ไว้มีสูงมาก  การใช้หลักการทางสถิติโดยเฉพาะความน่าจะเป็นจะช่วยให้เรารู้ว่าโดยเฉลี่ยถ้าเราทำมันมากพอหรือตรวจสอบย้อนหลังมากพอ ค่าของมันควรจะเป็นเท่าไรและโอกาสที่เหตุการณ์แต่ละครั้งจะแตกต่างกับสิ่งที่คาดการณ์นั้นจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน ในฐานะของนักลงทุน  เราคงไม่มานั่งคำนวณโอกาสความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นตัวเลข  เพราะแม้แต่นักสถิติเองก็มักจะทำไม่ได้แม่นยำ  แต่เราต้องเข้าใจแนวคิดของมันเพื่อที่จะได้ไม่  “ถูกหลอก” ด้วยตัวเลขที่นักวิเคราะห์ทำมาให้เราเชื่อและตัดสินใจลงทุนตามตัวเลขที่อาจจะ  “สวยหรู”  แต่ไม่ได้บอกว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นอาจจะน้อยมากและโอกาสที่จะผิดพลาดอาจจะสูงมาก  ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เราขาดทุนมหาศาล  ตัวอย่างเช่น  เขาคาดว่ากำไรของบริษัทปีหน้าจะโตขึ้น 50% คิดเป็นเงิน 600 ล้านบาท จากกำไรปีที่แล้วที่ 400 ล้านบาท โดยไม่ได้บอกว่ามันมีโอกาสที่บริษัทอาจจะไม่ได้กำไรเพิ่มเลยหรืออาจจะขาดทุนก็ได้ นอกจากการคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตถึง 50% แล้ว  นักวิเคราะห์ยังได้ให้ Target Price หรือราคาเป้าหมายของหุ้นโดยอิงกับการเติบโตซึ่งมีเซียนหุ้นหลายคนรวมถึง ปีเตอร์ ลินช์ พูดว่าเราสามารถใช้ค่า PEG  ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วย Growth เท่ากับ 1 เท่าได้   ดังนั้นค่า PE ที่เหมาะสมของหุ้นก็คือเท่ากับ Growth ที่ 50 เท่า   แต่ว่าก่อนประกาศหรือออกบทวิเคราะห์ หุ้นตัวนั้นมีค่า PE แค่ 25 เท่า ดังนั้น  ราคาหุ้นเป้าหมายก็ปรับขึ้นไปเป็น 1 เท่าตัว  เช่น  จาก 50 บาทก็กลายเป็น 100 บาท นักลงทุนที่เชื่อตัวเลขราคาเป้าหมายของนักวิเคราะห์ก็แห่กันเข้าไปซื้อส่งผลให้หุ้นขึ้นไปแรงมากจากราคา 50 บาทกลายเป็น100 บาท  และด้วยอิทธิพลของแรงเก็งกำไรราคาก็วิ่งต่อไปอีกกลายเป็น 120 บาท  ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ “ตื่นเต้นมาก”  เขาเห็นว่าราคาน่าจะวิ่งต่อไปได้อีกมองจากปริมาณการซื้อขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นมหาศาลและคนกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าบริษัทจะยิ่งใหญ่ “ระดับโลก” การปรับ Target Price รอบสองก็ตามมา  ตัวเลขกำไรถูกเลื่อนไปใช้ตัวเลขของปีหน้าจากกำไรต่อหุ้น 2 บาทโต 50% กลายเป็น 3 บาท และเมื่อคูณด้วยตัวเลข PE ที่ 50 เท่า  ราคาเป้าหมายก็เลยกลายเป็น 150 บาท  คำแนะนำก็คือ  “ซื้อ”  เพราะราคาปัจจุบันเท่ากับ 120 บาท  มีโอกาสทำกำไรได้ประมาณ 30 บาทต่อหุ้นหรือประมาณ 25%  นักลงทุนจึงซื้อหุ้นต่อทั้ง ๆ ที่ราคาเกินเป้าหมายแรกที่ 100 บาทไปแล้ว  และถ้าเราเชื่อตัวเลขเหล่านั้น  เราก็อาจจะเข้าไปซื้อ  เพราะดูเหมือนว่าหุ้นกำลังวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ   แต่ทั้งหมดที่เขาพูดมานั้น  เขาไม่ได้พูดว่าโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน  เขาพูดราวกับว่ามันจะเกิดขึ้นแน่นอนหรือไม่ก็สูงมาก  และที่ยิ่งสำคัญก็คือ  เขาไม่พูดถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะต่ำกว่านั้นมาก  เช่น  กำไรอาจจะไม่โตเลยหรือลดลงได้ทั้ง ๆ  ที่ถ้ามองย้อนหลังไปในอดีตหลายปี  กำไรของบริษัทก็ไม่ได้โตหรือโตน้อยแค่ปีละไม่เกิน 10% เมื่อเวลาผ่านไป  ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่ได้ออกมาตามที่คาด  มันต่ำกว่าที่คาดมาก  แต่มันใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานในอดีตมากกว่า   นั่นก็คือ  มันโตช้าแค่ 5-10%  ต่อปี  นักลงทุนเริ่มตกใจและขายหุ้น  ราคาหุ้นร่วงมาแรงมากกว่า 50% จากจุดสูงสุดและค่า PE ก็ยังสูงเกิน 25 เท่าที่เป็นค่า PE ของหุ้นก่อนที่จะมีการคาดการณ์กำไรของบริษัทว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ใน “ปีหน้า”  นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงลิ่วขาดทุนหนักเพราะไม่ได้คำนึงถึง Probability หรือโอกาสที่กำไรจะเพิ่ม50% ว่ามันมีมากน้อยแค่ไหน  บางทีอาจจะน้อยมากแค่ 10% ก็เป็นได้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่น่าจะเกิดขึ้น” และผลก็คือ  มันก็ไม่เกิดขึ้นจริง ๆ   นอกจากไม่เกิดขึ้นแล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นยังแตกต่างหรือผันแปรไปจากค่าที่คาดหวังมาก  คือจากการเติบโต50% กลายเป็นแค่ 10%  ซึ่งในแวดวงของนักลงทุนไทยแล้ว  เราไม่ถือว่ามันเป็นหุ้นเติบโต  ดังนั้น  คนที่เล่นหุ้น Growth ก็ขายหุ้นแบบถล่มทลาย ธรรมชาติของตัวเลขผลประกอบการของแต่ละอุตสาหกรรมและแต่ละบริษัทนั้น  เราต้องเข้าใจว่ามันสามารถคาดการณ์ด้วยความแม่นยำและมีความผันผวนต่างกัน  จำนวนและขนาดของลูกค้ารวมถึงความผันผวนของราคาสินค้ามีส่วนอยู่มาก  ถ้าลูกค้าเป็นรายย่อยและมีจำนวนมากเป็นล้าน ๆ คน  การคาดการณ์โดยทั่วไปก็จะมีความแม่นยำและโอกาสที่ผลประกอบการจะแตกต่างจากตัวเลขคาดการณ์มากก็จะน้อย  ในกรณีแบบนี้  ความเสี่ยงของการลงทุนก็จะต่ำกว่า  เรามักจะไม่ค่อยเจอวิกฤติด้านของการลงทุนรุนแรงในหุ้นประเภทนี้  เช่นเดียวกัน  โอกาสที่หุ้นจะกระโดดขึ้นไปรุนแรงในเวลาอันสั้นก็จะน้อยกว่ามากเพราะการคาดการณ์อนาคตของผลประกอบการของหุ้นปีต่อปีก็มักจะไม่ก้าวกระโดดที่จะส่งผลให้หุ้นมีราคาปรับตัวขึ้นไปเร็วมากได้  อย่างไรก็ตาม  นี่ไม่ได้แปลว่าการลงทุนในหุ้นแบบนี้ไม่น่าสนใจ  เพราะจริงอยู่ว่าการลงทุนในหุ้นแบบนี้อาจจะไม่ทำให้รู้สึกว่ารวยเร็ว  แต่ในระยะยาวแล้ว  มันอาจจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเล่นหุ้นที่หวือหวาแต่คาดการณ์ได้ยากและมีโอกาสสูงที่มันอาจจะตกต่ำลงอย่างแรงในบางช่วง  และการตกต่ำลงแรงนั้นมันทำลายความมั่งคั่งได้รุนแรงมากกว่าการขึ้นที่รุนแรงในระดับเดียวกัน ตัวเลขภาพใหญ่เช่น  ตัวเลขเกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของดัชนีหุ้นเองนั้นก็มีความแตกต่างกันมากในแง่ของความสามารถในการคาดการณ์และความผันผวนของตัวเลข  โดยที่ตัวเลข GDP นั้นเนื่องจากผูกติดอยู่กับประชาชนทั้งประเทศและกิจกรรมที่เขาทำ  การคาดการณ์ปีต่อปีจึงค่อนข้างแม่นยำพอสมควรและความผันผวนก็ค่อนข้างต่ำ เช่น ถ้าเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโต 4% และความผันผวนก็คือไม่ต่ำกว่า 3.5% ในด้านที่แย่และไม่เกิน 4.5% ในด้านที่ดี  โอกาสที่เราจะทำนายพลาดก็น้อย  ดังนั้น  เราจึงไม่ต้องกังวลมากนักว่าบริษัทที่เราลงทุนจะ  “เจ๊ง” เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย  อย่างมากเราก็ไม่ค่อยดีหรือดีเท่านั้น แต่ตัวเลขดัชนีหุ้นนั้นการคาดการณ์น่าจะยากถึงยากมากและความผิดพลาดจากที่ทำนายก็อาจจะมหาศาล  หุ้นอาจจะเป็นวิกฤติได้เสมอเนื่องจากมันอิงกับปัจจัยทั่วโลกซึ่งแน่นอนรวมถึงปัจจัยในประเทศที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ถูกต้องหรือแม้แต่ใกล้เคียง  เช่นเดียวกัน  หุ้นก็อาจจะดี  ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้น “หักปากกาเซียน”  ได้เสมอแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะบอกว่าปีนี้เล่นหุ้นยากมาก  ดังนั้น  เราไม่ควรจะหวังอะไรกับดัชนีหุ้นถ้าเราลงทุนระยะยาว   เราอาจจะต้องระวังมากขึ้นบ้างในกรณีที่มีสถานการณ์บางอย่างที่ประวัติศาสตร์บอกว่า  “น่ากลัว”  เช่นในยามที่หุ้นปรับตัวเป็นกระทิงและดัชนีมีราคาแพงมากซึ่งในที่สุดก็มักจะต้องปรับตัวลงแรงจนบางครั้งเป็นวิกฤติ  เป็นต้น ทั้งหมดนั้นก็คือตัวอย่างของตัวเลขที่เราอาจจะต้องคาดการณ์เพื่อที่จะวิเคราะห์หุ้น  หน้าที่ของเราก็คือการวิเคราะห์ตัวเลขแต่ละตัวว่ามันน่าจะเป็นอย่างไรในปีหน้าและในอนาคต  เราจะต้องรู้ปัจจัยสำคัญต่าง ๆ  ในการที่จะกำหนดตัวเลขเหล่านั้นและความผันผวนของมัน  ในกรณีจำนวนมากนั้นผมพบว่ามันไม่สามารถกำหนดได้แม่นยำและความผันผวนสูงมาก  ซึ่งในกรณีแบบนั้นบ่อยครั้งผมจะไม่ลงทุนเลย  ผมชอบลงทุนเฉพาะในหุ้นที่ผมคาดการณ์ตัวเลขได้ค่อนข้างดีและความผันผวนหรือโอกาสแตกต่างจากที่คาดการณ์มีน้อย  เพราะด้วยการลงทุนในหุ้นแบบนี้  โอกาสผิดพลาดหรือเรา “แพ้” มีต่ำ  ผมชอบลงทุนในสิ่งที่มีโอกาสขาดทุนน้อยแม้ว่าบางทีกำไรก็อาจจะไม่สูง  เพราะผมเชื่อในกฎสำคัญของการลงทุนในระยะยาวที่ว่า  “อย่าขาดทุน”

บทเรียนการลงทุนจากปี 2561 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
บทเรียนการลงทุนจากปี 2561 ดร. นิเวศน์เหมวชิรวรากร ในสงครามนั้นมีคำพูดสำคัญข้อหนึ่งก็คือ  “สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร”  เรื่องหุ้นเองนั้นบ่อยครั้งก็มีการเปรียบเทียบกับสงครามเนื่องจากการลงทุนนั้นเป็น “กิจกรรมแห่งการต่อสู้” ที่รุนแรงคล้ายๆกับสงครามดังนั้นในแวดวงหุ้นเองคนก็มักจะพูดว่าตราบใดที่คุณยังลงทุนอยู่เช่นยังถือพอร์ตลงทุนหุ้นจำนวนมากไว้หรือถือหุ้นบางตัวไว้ก็จงอย่าคิดว่าคุณประสบความสำเร็จทำเงินมากมายแล้วเหตุผลก็เพราะว่าพอร์ตและ/หรือหุ้นที่มีกำไรมหาศาลนั้นอาจจะตกลงมาอย่างแรงจนกำไรหดหายหรือกลายเป็นขาดทุนได้ดังนั้นจงอย่าชะล่าใจและเปิดตัวเองให้อยู่ในความเสี่ยงที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นการลงทุนในหุ้นนั้นเราควรที่จะ  “ถ่อมตน”  อยู่เสมอตราบที่เรายังคงลงทุนอยู่และนี่ก็คือบทเรียนแรกที่ผมคิดว่าเราน่าจะได้จากการลงทุนในช่วงปี 2561 ที่ VI จำนวนมากรวมถึง  “เซียนหุ้น”  ขาดทุนหรือมูลค่าพอร์ตลดลงมามากแทบจะเป็น  “หายนะ” ในการลงทุนนั้นผมคิดว่ามันเป็นกิจกรรมระยะยาวหรือแม้แต่ตลอดชีวิตแม้แต่คนที่  “เล่นสั้น” ซื้อขายหุ้นรายวันแต่ถ้าเขาก็ทำแบบนั้นเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานหรือ “ตลอดชีวิต”  มันก็คือเกมระยะยาวเช่นเดียวกันเหนือสิ่งอื่นใดก็คือหากเราเป็นคนที่มีเงินเหลือเก็บจากการทำงานใช้แรงงานเงินที่เหลือเก็บนั้นโดยนิยามก็คือเงิน “ลงทุน”  เพราะคงไม่มีใครเก็บเป็นเงินสดที่เป็นธนบัตรมันจะต้องถูกนำไปฝากธนาคารหรือซื้อตราสารทางการเงินหรือนำไปซื้อทรัพย์สินเพื่อการลงทุนซึ่งรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ดังนั้นโดยนิยามแล้วทุกคนที่มีเงินเหลือเก็บก็เป็นคนที่ต้องลงทุนหรือเป็นนักลงทุนและเป็นนักลงทุนระยะยาวตลอดชีวิตผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุนนั้นในบางช่วงก็ดีเลิศหรือดีบางช่วงก็แย่หรือแย่มากถ้า“บังเอิญ” ว่าเราทำผลตอบแทนได้ดีเยี่ยมมายาวอาจจะเป็น 10 ปีก็จงอย่าคิดว่าเรา “เก่งมาก” หรือเป็น “เซียน”  แม้ว่าจะมีคนอื่นยกย่องชื่นชมเราเพราะเป็นไปได้ว่าวันหนึ่งเช่นในปี 2561 เราอาจจะ “แพ้”  กำไรที่เคยทำมาได้หายหมดหรือลดลงมากจนทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นนั้นไม่ได้สูงกว่าปกติเท่าไรนักและนี่ก็คือสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตลอดเวลาและเกิดขึ้นกับ “เซียน” ระดับโลกด้วย ปี 2561 นั้นผมคิดว่ามันเป็นปีที่  “หมดรอบ” ในหลายๆเรื่องความหมายก็คือสิ่งต่างๆที่มักเคลื่อนไหวเป็นวัฏจักรดี-ร้ายนั้นหมุนมา “ครบรอบ” เช่นแรงเก็งกำไรในหุ้นแบบต่างๆที่ทำให้หุ้นขึ้นไปแรงมากเป็นเวลาหลายปีพอถึงปี 2561 มันก็ถึงจุดสุดยอดและก็เริ่มปรับตัวลงแรงและดูจะไม่สามารถดีดตัวขึ้นในระยะสั้นอย่างที่เคยเป็นอีกดังนั้นผมคิดว่ามันน่าจะ  “จบรอบ”  หรือ  “อวสาน”  และต้องรอเวลาอีกนานพอสมควรกว่าที่จะกลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหม่และการที่มันจบรอบหรือ  “สงครามสงบ” แม้ว่ามันจะเป็นเรื่อง “ชั่วคราว”  นี้เองผมจึงคิดว่าเราน่าจะมาทบทวนดูว่าเราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง จากประสบการณ์ของผมเองนั้นผลงานการลงทุนที่ดีนั้นมักจะเกิดขึ้นเพราะหุ้นบางตัวที่มีขนาดใหญ่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นต่อเนื่องยาวนานซึ่งนั่นช่วยทำให้ผลตอบแทนโดยรวมของพอร์ตเติบโตหรือต้านทานภาวะเลวร้ายของตลาดได้ถ้าจะพูดภาษาสงครามหน่อยก็อาจจะบอกว่าเรามี “เรือธง” ที่ยิ่งใหญ่ที่คอยค้ำจุนหรือปกป้องน่านน้ำหรือเขตสงครามที่ทำให้กองทัพประสบความสำเร็จและยืนหยัดอยู่ได้เรือธงนั้นเองก็ “ถูกถล่ม” เช่นเดียวกันแต่มันไม่จมและมันพร้อมที่จะกลับมาสู้รบอย่างห้าวหาญต่อไปอย่างไรก็ตามมีโอกาสเสมอที่มันอาจจะถูกถล่มจนจมลงแบบเดียวกับที่เรือบิสมาร์กที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมันถูกรุมล่าจนจมลงมาแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บทเรียนที่ว่าเราต้องมีเรือธงหรือหุ้นที่ยิ่งใหญ่หรือหุ้นที่ในช่วงเวลายาวนานระดับหนึ่งสร้างผลงานที่น่าประทับใจจนทำให้ผลงานโดยรวมของเราดีต่อเนื่องยาวนานนี้ผมคิดว่ามันเป็นบทเรียนที่ปีเตอร์ลินช์พูดไว้ในหนังสือเรื่อง One Up On Wall Street ที่เขาเล่าว่าการเติบโตหรือผลตอบแทนของหุ้นจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ของเขานั้นก็ไม่ได้สูงผิดปกติอะไรมัน“ธรรมดา” มากเหตุผลก็อาจจะเป็นว่าเขาถือหุ้นเป็นพันตัวซึ่งมันยากมากที่จะมีผลงานดีทุกตัวแต่หุ้นที่ทำให้พอร์ตเขาดูดีมากก็คือหุ้นบางตัวที่เขาถือไว้จำนวนมากตั้งแต่ราคายังต่ำและบริษัทที่อาจจะเพิ่ง “Turnaround” หรือเติบโตนั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆทุกปีในอัตราที่สูงและกลายเป็น “หุ้น 10 เด้ง”  และนี่คือหุ้นที่เขาถือยาวนานติดต่อกันหลายปีผลก็คือผลตอบแทนระยะยาวที่ดีมากของเขาส่วนสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนในหุ้นแบบนี้ บทเรียนสำคัญต่อมาก็คือการ “หลีกเลี่ยงหายนะ” จากหุ้นที่เราลงทุนนี่ก็คือจะต้องประเมินความเสี่ยงของหุ้นทุกตัวว่ามันเป็นอย่างไรความเสี่ยงสูงแค่ไหนและต้องเป็นความเสี่ยงทุกด้านรวมถึงความเสี่ยงที่เราใช้ Leverage หรือการกู้ยืมเงินมาลงทุนหรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการเพิ่มอัตราความเสี่ยงขึ้นไปสูงมากเช่นการใช้บล็อกเทรดเป็นต้นและนอกจากความเสี่ยงของตัวกิจการและตัวหลักทรัพย์เองแล้วเราก็ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิด Fraud หรือการโกงและการหลอกลวงในเรื่องต่างๆรวมถึงระบบบัญชีของบริษัทโดยเฉพาะเวลาที่เราดูแล้วมัน  “Too good to be true” หรือมันดูดีจนไม่น่าเป็นไปได้ในช่วงปี 2561 และก่อนหน้านั้น 2-3 ปีดูเหมือนว่าเราจะพบหุ้นประเภทนี้ค่อนข้างมาก บทเรียนอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะจดจำก็คือหุ้นที่มี “คนเชียร์กันอื้ออึง” นั้นก็เป็นไปตามที่บัฟเฟตต์เคยพูดไว้ว่าเรามักจะต้องจ่ายเงินซื้อแพงเกินไปและทำให้เรา  “เสียเงิน”  ช่วงก่อนหน้านี้เราได้เห็นว่ามีหุ้นขนาดกลางและเล็กจำนวนไม่น้อยที่ถูกเชียร์กันอย่างกว้างขวางว่าจะเติบโตยิ่งใหญ่เหมือนอย่างหุ้นที่ยิ่งใหญ่ในต่างประเทศโดยนักลงทุนนักวิเคราะห์ผู้บริหารบริษัทและสื่อต่างๆซึ่งทำให้ราคาหุ้นถูกไล่ขึ้นไปสูงมากแต่แล้วเมื่อตัวเลขผลประกอบการที่ทยอยออกมาไม่รองรับราคาหุ้นก็ปรับลดลงมาหนักมากซึ่งทำให้คนที่ตื่นเต้นกับเสียงเชียร์และเข้ามาซื้อหุ้นขาดทุนจำนวนมาก อีกบทเรียนหนึ่งที่ปี 2561 ตอกย้ำก็คือการคาดการณ์ภาวะตลาดหุ้นนั้นเป็นเรื่องที่มีประโยชน์น้อยในการลงทุนส่วนใหญ่แล้วโอกาสที่จะถูกหรือผิดนั้นเท่าๆกันและบ่อยครั้งถึงคาดถูกก็ไม่มีประโยชน์เพราะเราเป็นนักลงทุนที่เลือกลงทุนเองไม่ใช่คนที่ซื้อกองทุนรวมอิงดัชนีปี 2561 นั้นคนส่วนใหญ่น่าจะคาดในช่วงต้นปีว่าจะเป็นปีที่ดีเพราะดัชนีหุ้นก็เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามเมื่อหมดปีผลปรากฏว่าดัชนีก็ตกลงมา  “แรง”  คือประมาณ 11%  แต่ถ้ามองจากประวัติศาสตร์การตกแค่นี้ก็ถือว่า  “ธรรมดา”  เป็นแค่  Correction หรือการ “ปรับตัว” ของตลาดหุ้นอย่างไรก็ตามถ้ามองในภาพเล็กลงมาและในสายตาของนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากแล้วปี 2561 น่าจะถือว่าเป็นปี  “วิกฤติ”...

อาชีพน่าเบื่อกับ VI ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

0
โลกในมุมมองของ Value Investor        5 มกราคม 2562 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร อาชีพน่าเบื่อกับ VI   ​ทุกสิ้นปีหรือต้นปีใหม่ของทุกปีผมจะต้อง  “ทบทวน” ผลงานและกิจกรรมทางการลงทุนของผมว่าเป็นอย่างไร  เหตุผลนั้น  นอกจากจะต้องทำบันทึกเพื่อเอาไว้เขียนหนังสือแล้ว  ยังเป็นการดูว่าเราได้ทำอะไรไปบ้างและมันถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไรเพื่อเก็บไว้เป็น  “บทเรียน” สำหรับอนาคต ​ปี 2561 นั้นน่าจะเป็นปีแรกในช่วงเวลา 22 ปี ที่ผมลงทุนเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ของเงินเก็บทั้งหมดในฐานะของ “VI” ที่ผม “ไม่ได้ทำอะไรเลย” นั่นก็คือ  ผมไม่ได้ซื้อหรือขายหุ้นแม้แต่ตัวเดียว  ผมรู้สึกว่าไม่มีหุ้นที่น่าสนใจพอที่จะซื้อเพื่อถือระยะยาวแบบ VI เพราะมันไม่มี Margin of Safety หรือส่วนต่างเพื่อความปลอดภัยเพียงพอ  หุ้นที่ดีเป็นซุปเปอร์สต็อกก็มักจะมีราคาแพงค่า PE สูงตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไปซึ่งผมคิดว่าบางตัวราคาก็อาจจะยังพอยอมรับได้ว่าสมเหตุผล  แต่ในสภาวะของเศรษฐกิจสังคมการเมืองของไทยมันก็อาจจะยังมีความเสี่ยง  โอกาสขาดทุนในระยะยาวก็เป็นไปได้ไม่ต้องพูดถึงระยะสั้นที่อาจจะขาดทุนได้ง่าย ๆ  ...

MOST POPULAR