หน้าแรก แท็ก บทความ

แท็ก: บทความ

การกระจายตลาด เช่นถือหุ้นต่างประเทศด้วยก็อาจจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้

0
Survivor โลกในมุมมองของ Value Investor   7 พฤศจิกายน 63 ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร Survivor ​คนที่เป็น VI นั้น  ผมคิดว่าน่าจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งนั่นก็คือ  เขาเป็น  “Survivor” หรือคนที่สามารถ “เอาตัวรอด” ได้ใน  “สถานการณ์ที่ยากลำบาก”  อย่างเช่นในเรื่องของการลงทุนในปัจจุบันนั้น  ถ้าใครที่พอร์ตลงทุนโดยรวมขาดทุนหรือเสียหายไม่เกิน 20-25% และไม่ได้ทำให้ “ชีวิต” เปลี่ยนแปลงไปมาก  ก็ต้องถือว่ายังเป็น Survivor  เหตุผลก็เพราะเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในช่วงภาวะ “วิกฤติ”ตลาดหุ้นเองก็เคยตกลงมาหนักกว่า 30% ในช่วงแรก  และแม้แต่ในช่วงล่าสุดก็ยังตกลงมากว่า 20% จากต้นปี  อย่างไรก็ตาม  นี่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าเขาจะยังอยู่รอดได้ไปถึงสิ้นปีหรือในอนาคตข้างหน้าสำหรับวิกฤติรอบนี้  เหตุผลก็เพราะ  วิกฤติรอบนี้ก็ยังไม่จบ  ดัชนีตลาดหุ้นไทยเองก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวและกลับทิศไปแน่นอนแล้วอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นในตลาดหุ้นที่ก้าวหน้ากว่าอย่างสหรัฐหรือจีนหรือตลาดหุ้นที่ด้อยกว่าอย่างตลาดหุ้นเวียตนาม ​ในความคิดของผม  คำว่า Survivor ในเรื่องของการลงทุนนั้น  เป็นเรื่อง “ระยะยาว” ที่คน ๆ...

This (Covid19) too shall pass

0
This (Covid19) too shall pass โลกในมุมมองของ Value Investor9 พฤษภาคม 63ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ​เวลาเกิดเหตุการณ์หรือมีสถานการณ์ที่รุนแรงโดยเฉพาะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความยากลำบากอย่างใหญ่หลวงจน “แทบทนไม่ไหว” จงจำไว้ว่า เหตุการณ์แบบนั้นจะไม่อยู่ตลอดไป มันเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ถึงวันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยนไป นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ดังนั้น เราจะต้องอดทนเพื่อที่จะ “ผ่านมันไปให้ได้” เพื่อที่จะไปสู่ความรุ่งเรืองและมั่งคั่งที่อาจจะตามมา และคำกล่าวคลาสสิกที่พูดโดย อับราฮัม...

ลงทุนหุ้นท่ามกลางวิกฤติ

0
โลกในมุมมองของ Value Investor      21 มีนาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นอย่างแรงจาก 1,044.19 จุดเป็น1,127.24 จุด ปรับเพิ่มขึ้นถึง 83 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 8% ในวันเดียว  หุ้นขนาดใหญ่หลายตัวปรับขึ้นติดซิลลิ่งที่15% ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีข่าวสำคัญมากอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุ  จริงอยู่  ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาบ้างจากราคาที่ต่ำมากอาจจะเป็นจุดที่ทำให้หุ้นในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันและปิโตรเคมีดูดีขึ้นแต่นั่นก็ไม่น่าที่จะทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นแรงขนาดนั้น สถานการณ์ของไวรัสโควิท19 ของไทยและของโลกเองก็ไม่ได้ดูดีขึ้น  ว่าที่จริงโดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทยเองนั้น  ดูเหมือนว่าเราจะ “แย่ลงมาก” โอกาสที่เราจะต้อง  “ปิดเมือง” ดูเหมือนจะสูงขึ้นมาก  ถ้าถามผมคิดว่า  การปรับตัวขึ้นของดัชนีนั้น  น่าจะมาจากแรง  “เก็งกำไร” ของนักลงทุนไทยที่อาจจะเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นได้ตกลงมามากจนเป็นวิกฤติ  เดี๋ยวก็จะ  “เด้ง” ขึ้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงเข้ามาช้อนซื้อหุ้นก่อน  เมื่อหุ้นขึ้น  คนที่รออยู่ก็รีบเข้ามาเก็บหุ้นตามทำให้ราคาหุ้นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็น “หุ้นเก็งกำไร” ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นอย่างน้อย 10-15% ภายในวันเดียว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ  นี่เป็นเวลาที่หุ้นจะกลับตัวหรือยัง?  หุ้นกำลังจะฟื้นจากวิกฤติหรือ? คนที่รอซื้อหุ้นกำลังจะ “ตกรถ”  หรือเปล่า? ผมเองคิดว่าไม่  นี่อาจจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่เรียกว่า  “Technical Rebound” ที่หุ้นปรับตัวขึ้นแรงมากหลังจากตกลงมาแรงมาก  แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนเลวร้ายลงอีก  หุ้นที่ขึ้นไปแรงก็จะตกลงมาและจะต่ำลงกว่าจุดต่ำเดิม  คนที่เข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงก็จะขาดทุนหนัก  ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 นั้น  คนเรียกการตกของหุ้นในช่วงปีแรกว่าเป็น “ปีเผาหลอก”  และการตกลงมาอีกในปีต่อไปว่าเป็นปี “เผาจริง”  เหตุผลที่ให้ก็คือ  ปีแรกที่เกิดวิกฤตินั้น  อาการยังไม่หนักเท่าปีต่อมา  หรือบางทีอาจจะเป็นว่า  ปีแรกนั้นคนยังไม่ตระหนักว่าเศรษฐกิจมันจะเลวร้ายขนาดนั้น  พอเวลาผ่านไปจึงรู้ว่า  ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น  หนักกว่าที่คิดไว้ ผลก็คือ  ดัชนีหุ้นที่ดีดกลับขึ้นไปนั้น  ตกกลับลงมาอย่างแรงจนคนหมดกำลังใจจริง ๆ  และการตกลงมารอบหลังนี้ คนเลิกเล่นหุ้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงไปมาก  และนั่นก็คือเวลาที่จะซื้อหุ้นอย่างจริงจังแบบ  “ช้า ๆ  ไม่ต้องรีบ” ลองมาดูประวัติศาสตร์ดัชนีหุ้นของวิกฤติปี 2540 ดู  ในวันสิ้นปี 2538 นั้น  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,281 จุด  ในช่วงเวลานั้น  คนในแวดวงธุรกิจและวงการเงินต่างก็เริ่มจะรู้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา  ค่าเงินเม็กซิโกตกต่ำลงอย่างหนักและมากเป็นประวัติการณ์  บริษัทหลักทรัพย์แบริ่งซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่และยิ่งใหญ่ระดับโลกล้มละลายก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินโลก  ที่สำคัญ  การส่งออกของไทยกำลังถดถอยลงอานิสงค์จากค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปและผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งทำให้ไทยขาดดุลการค้ามหาศาลในระดับเกือบ 10% ของ GDP สถานะเงินสำรองของประเทศลดต่ำลงจนอยู่ในภาวะอันตราย  สถาบันการเงินโดยเฉพาะบริษัทเงินทุนเริ่มมีปัญหา  ผลก็คือในช่วงเวลาตลอดปี 2539  ดัชนีลดลงจากจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,400 จุดในช่วงไตรมาศแรกของปี เหลือเพียง 832 จุดตอนสิ้นปีหรือลดลงประมาณ 40% กลายเป็นภาวะ “วิกฤติตลาดหุ้น” ในปี 2539 แต่นั่นยังไม่พอ  ดัชนียังไหลลงต่อในปี 2540 จนถึงเดือนมิถุนายนก่อนที่จะมีการ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ที่ดัชนีตกลงมาเหลือ 527 จุด   แต่หลังจากประกาศ  คนคงคิดว่าทุกอย่างคงจบแล้ว  ราคาหุ้นลงมามากพอแล้ว ดัชนีตกลงมา 62% แล้ว  ดังนั้นคนจึงเข้ามาซื้อหุ้นอย่างหนัก  ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างแรงในเดือนกรกฎาคมเป็น 666 จุดหรือหุ้นขึ้นไปถึง26% ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว  และเมื่อมองย้อนหลัง  นี่คือ  “Technical Rebound” ในท่ามกลางภาวะวิกฤติ เพราะหลังจากการเด้งขึ้นไป 26% มันก็ตกลงมาต่อจนถึงสิ้นปีดัชนีก็ลดลงมาเหลือเพียง 373 จุด หรือตกลงมาจากจุดสูงสุดที่ 1,400 จุด ถึง 73% และนักลงทุนก็คงคิดว่านี่คงจะเป็น Bottom หรือพื้นจริง ๆ  แล้ว  ได้เวลาช้อนซื้อหุ้นอีกครั้งหนึ่ง  ผลก็คือ  หุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างแรง  ภายในเวลา 2 เดือนของปี 2541 หุ้นก็ดีดตัวขึ้นไปถึง 528 จุด หรือขึ้นไปกว่า41%  คนอาจจะคิดว่าเมื่อวิกฤติ “ผ่านไป”  ทุกอย่างก็คงจะกลับมาเหมือนเดิมในเวลาอันรวดเร็ว  อาจะไม่เกินปีสองปี ดังนั้น  หุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปก่อน  เหนือสิ่งอื่นใด  528 จุดก็ต่ำมากและคิดแล้วก็ยังเป็นการตกลงมาจากยอดที่ 1,400 จุดถึง 62% แต่แล้วนักลงทุนก็คาดผิด  การปรับตัวขึ้นของหุ้นถึง 41% ไม่ใช่เพราะวิกฤติกำลังจะผ่านไป  ที่จริงวิกฤติมันเพิ่งจะเริ่มส่งผลไปที่ตัวหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายที่กำลัง “ปรับโครงสร้าง” กันอย่างยากลำบาก  พวกเขากำลังหาผู้เข้ามาเพิ่มทุนกู้กิจการที่เรียกว่า  “Technical Bankrupt”  หรือ “เจ๊ง” ไปแล้ว  ดังนั้น  เมื่อข้อมูลข่าวสารเริ่มทยอยออกมา พื้นฐานที่แท้จริงของกิจการปรากฏออกมาเรื่อย ๆ    ดัชนีหุ้นก็ตกลงมาต่อ  ดัชนีไหลลงจาก 528 จุด เหลือเพียง 214 จุด เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 และเป็นจุดต่ำสุดจริง   โดยรวมแล้ว  วิกฤติรอบต้มยำกุ้งนั้นลดลงจาก 1,400 จุดช่วงไตรมาศแรกของปี 2539 จนถึงสิงหาคม 2541 เป็นเวลาประมาณ 2ปี 7 เดือน  และดัชนีลดลงประมาณ 85%  เป็น หายนะครั้งใหญ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นเหงาหงอยและคน “สาบส่ง” การเล่นหุ้นและทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นเหลือวันละเพียง 2-3,000 ล้านบาท  การเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรและไม่สนใจพื้นฐานของหุ้นหายไป  และการลงทุนแบบ VI ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ  ยุคใหม่ของการลงทุนเริ่มขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี วิกฤติโควิด19 เกิดขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในปี 2019 จากประเทศจีนและขยายไปทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลง  ซึ่งส่งผลให้การส่งออกซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยลดต่ำลง  ในอีกด้านหนึ่ง  การท่องเที่ยวของไทยที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ทำรายได้เพิ่มมากที่สุดของไทยและก่อให้เกิดผลิตผลไม่ต่ำกว่า 15% ของ GDP และการจ้างงานเป็นล้าน ๆ คนก็ลดต่ำลงในระดับ  “หายนะ” อย่างน้อยน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะกลับมา  ทั้งสองอย่างนี้ทำให้ GDP ของไทยคงติดลบในปีนี้  โชคไม่ดี  ในช่วงเวลาเดียวกัน  สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำลงมากถึงต่ำกว่า 20 เหรียญต่อบาร์เรล  นี่ทำให้บริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมี Market Cap รวมกันถึงเกือบ 30% ในตลาดหุ้นจะมีกำไรที่ลดลงมากหรือขาดทุน  ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดวิกฤติตลาดหุ้นที่รุนแรง  ดัชนีหุ้นลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน  โดยรวมแล้ว ดัชนีตกลงมาจากต้นปีถึงวันพฤหัสที่ 19 มีนาคม 63 ถึง 33.9% และคนอาจจะคิดว่ามันตกลงมาพอแล้ว  วิกฤติโควิด19 กำลังผ่านไป  ราคาน้ำมันก็คงไม่ต่ำอยู่อย่างนั้นตลอดไป  เมื่อตกลงกันได้ราคาก็จะเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  คนก็เข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้ขึ้นไป  แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ?  วิกฤติครั้งนี้ทำให้หุ้นตกลงไปเพียง 33.9% เท่านั้นหรือ?  ผมไม่แน่ใจ ว่าที่จริงประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีมาตรการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาไวรัสหลังจากจำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเร็ว ๆ นี้  ในยุโรปและอเมริกาเองก็เพิ่งเริ่มตระหนักว่าไวรัสนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการต่อสู้ไม่น้อยกว่าวิกฤติอื่น ๆ  แน่นอนว่าในที่สุดสาเหตุของวิกฤติก็จะต้องผ่านไปและเศรษฐกิจก็จะฟื้นและตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นอย่างแรง  แต่มันคือเวลานี้หรือผมยังสงสัย  ผมคิดว่ามีโอกาสที่การปรับตัวในช่วงนี้น่าจะเป็น Technical Rebound  คล้าย ๆ ช่วงวิกฤติปี 2540   จริงอยู่  ในวิกฤติซับไพร์มในปี 2551  ดูเหมือนว่าหุ้นจะลงมา 50% แบบ “ม้วนเดียวจบ”...

Property Grand Sale

0
โลกในมุมมองของ Value Investor 7 มีนาคม 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยลงอย่างแรง  สิ่งหนึ่งที่คนไม่อยากทำก็คือการกู้เงินเพื่อที่จะซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่เช่น อสังหาริมทรัพย์  ดังนั้น  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  ยอดขายของบ้านและคอนโดมิเนียมจึงลดลงอย่างแรง  คอนโดที่สร้างเสร็จเหลือขายและเป็นสต็อกก็ยังมีจำนวนมหาศาล  การลดลงของราคาโดยเฉพาะคอนโดนั้นกลายเป็นเรื่องปกติและน่าจะลดลงต่อไป  คนที่มีหรือซื้อคอนโด “เพื่อการลงทุน” คงจะเหนื่อยโดยเฉพาะที่กู้เงินมาซื้อ  อย่างไรก็ตาม  คนที่ดูเหมือนว่าจะเจ็บหนักกว่ามากก็คือคนที่ซื้อหุ้นของบริษัทที่ขายบ้านและคอนโด  เพราะราคาหุ้นอสังหาฯกลุ่มนี้กำลังตกลงมาอย่างหนักทั้ง ๆ  ที่กำไรของบริษัทก็ยังดีอยู่มาก  ราคาหุ้นก็ถูกจนไม่น่าเชื่อ  ที่สำคัญก็คือ  หุ้นเหล่านี้จ่ายปันผลเป็นกอบเป็นกำ  และทั้งหมดนั้นเป็นมานานหลายปีแล้วตั้งแต่ที่เศรษฐกิจยังไม่เลวร้ายแบบนี้และภาวะต่าง ๆ รวมทั้งตลาดหุ้นก็ยังปกติ  แต่ราคาหุ้นก็แทบจะไม่เคยขึ้นไปเป็นเรื่องเป็นราวเลย  หุ้น Property นั้นเป็นหุ้นที่เหมือนถูกสาป  ตอนที่หุ้นอื่นดีก็ไม่ได้ดีด้วย  แต่ตอนที่ตลาดหุ้นแย่  มันก็แย่เหมือนกันหรือยิ่งกว่า ผมลองคัดหุ้นที่ขายคอนโดและบ้านที่เป็นหุ้นหลัก ๆ และเป็นหุ้นที่อยู่มานาน  ส่วนใหญ่เคยผ่านวิกฤติมาแล้ว  บริษัทมีขนาดใหญ่และมีจุดเด่นของตนเอง  สามารถแข่งขันในตลาดได้และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค  การขายคอนโดและบ้านมักเป็น  “อาชีพหลัก” ที่บริษัททำมานานหลายสิบปี  ผู้ก่อตั้งซึ่งมักจะเป็นผู้บริหารด้วยก็มักจะยังทำงานอยู่ในบริษัททั้ง ๆ  ที่หลายคนอายุใกล้เคียงกับผมและเกินวัยเกษียณมาหลายปีแล้ว  พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นมืออาชีพที่  “เก๋า” และผมเชื่อว่าเอาตัวรอดได้ในรอบนี้  หุ้นจำนวน 8 ตัวที่ผมจะยกมาให้ดูว่าน่าสนใจแค่ไหนนั้นต้องบอกเสียก่อนว่าไม่ได้ต้องการเชียร์ให้ซื้อเลยจริง ๆ  เพราะธุรกิจอสังหาฯแนวขายบ้านและคอนโดนั้น  ไม่ใช่หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเติบโตแต่เป็นอุตสาหกรรมที่อิ่มตัวเนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยลดต่ำลงมาก  ดังนั้น  การที่จะหวังให้ได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นมาก ๆ อาจจะยาก  ผลตอบแทนจากการลงทุนอาจจะมาจากปันผลเป็นหลัก  ในอีกด้านหนึ่งความเสี่ยงจากการที่บริษัทจะเกิดปัญหาก็มีไม่น้อยโดยเฉพาะในแง่ของสภาพคล่องทางการเงิน  อย่างไรก็ตาม  นี่อาจจะลดลงได้เมื่อคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้บริหารที่เคย “ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก” และผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง หุ้นตัวแรกก็คือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดและน่าจะเป็น “Legend” หรือตำนานในวงการอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วก็คือหุ้น LH จุดเด่นของหุ้นก็คือเป็นหุ้นที่อยู่ในรายชื่อของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ  สินค้าโดยเฉพาะบ้านของบริษัทได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากผู้บริโภคว่าคุณภาพดีและมีความรับผิดชอบต่อลูกบ้านสูง  นอกจากบ้านแล้วบริษัทยังมีทรัพย์สินที่ทำรายได้และกำไรที่ดีต่อเนื่องแบบ “ครบเครื่อง” คือเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ถึง 30% ในหุ้น Hmpro และ22% ในหุ้น LHFG นอกจากนั้นยังมีอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ  ที่สร้างรายได้ต่อเนื่องและค่อนข้างแน่นอนเช่นร้านค้าปลีกให้เช่าอีกมาก  ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้และกำไรที่ดีและสม่ำเสมอแต่ก็แทบจะไม่โตเลย  เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่นิ่งมา 4-5 ปีเช่นเดียวกัน  ราคาหุ้นของบริษัทก็ “ถูก” มาตลอด  คือมีค่า PE อยู่ในช่วง 10 เท่าบวกลบน้อยมาก  ค่า PB ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2 เท่า  อย่างไรก็ตาม  ปันผลตอบแทนของบริษัทนั้นสูงตั้งแต่ 6-8% ต่อปีทุกปี ตัวที่สองก็คือบริษัทที่น่าจะเรียกว่า  “ลูก” ของ LH แต่จริง ๆ  แล้ว LH ถือหุ้นแค่ 24.98% จึงนับเป็นลูกจริง ๆ ไม่ได้นั่นก็คือหุ้น QH ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นดูเหมือนว่าหลายสิ่งหลายอย่างรวมทั้งผู้บริหารก็คล้าย ๆ กับ LH นั่นคือ  QH ถือหุ้นHmpro 20% ถือหุ้น LHFG 14% และก็ยังมีทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้และกำไรสม่ำเสมออื่น ๆ  คล้าย LH เหมือนกัน  ว่าที่จริง  กำไรที่เกิดจากธุรกิจอื่นของ QH มากกว่ากำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ด้วยซ้ำ และก็เช่นเดียวกัน  รายได้และกำไรของ QH ก็ค่อนข้างสม่ำเสมอ  โดยลดลงบ้างในช่วงเร็ว ๆ  นี้จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น  อย่างไรก็ตาม ค่า PE ค่า PB และ Dividend Yield ของ QH นั้นถูกกว่าของ LH ที่ต่ำกว่า 10 เท่า 1 เท่า และกว่า 8% ในปีล่าสุด ตัวที่สามคือหุ้น AP ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นหุ้น “น้องของ LH” เพราะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นน้องของเจ้าของ LH  แต่ดูเหมือนว่าจะมีการบริหารและอื่น ๆ  แยกกันอย่างสิ้นเชิง  ผลิตภัณฑ์และผลงานของ AP นั้นค่อนข้างมีความสม่ำเสมอ  มีรายได้และกำไรดีและสม่ำเสมอ  เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่นิ่งมานานและลดลงตามภาวะอุตสาหกรรมและตลาดหุ้นในช่วงนี้  เช่นเดียวกัน  หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกคือมีค่า PE PB และ D/P อยู่ที่ 6  0.7 เท่า และ 6.5% ต่อปีตามลำดับ ตัวที่สี่คือหุ้น PSH หรือพฤกษาซึ่งเป็น “เจ้าแห่งบ้านราคาถูก” และน่าจะขายบ้านมากกว่าทุกบริษัทในประเทศไทยเพราะใช้วิธีสร้างบ้านแบบกึ่งอุตสาหกรรม  รายได้และกำไรของบริษัทดีมาตลอดแต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและลดลงมาจาก 2-3 ปีที่แล้วอย่างแรง  อาจจะเป็นเพราะคนเริ่มตระหนักว่ากลุ่มบ้านราคาถูกอาจจะไม่โตต่อไปและบริษัทก็หันไปสนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้สม่ำเสมออย่างโรงพยาบาลที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะมีกำไร  ผลก็คือ ราคาหุ้นนั้นต่ำมากแต่จ่ายปันผลสูงมากคือมีค่า PE PB D/P ที่ 6  0.7 เท่าและ 10.6% ต่อปีตามลำดับ ตัวที่ 5 คือหุ้น SPALI นี่คือหุ้นของ  “เซียนอสังหาฯรุ่นเก๋า” อีกรายหนึ่งที่อยู่มายาวนานคล้าย ๆ LH ผลงานของบริษัทมีให้เห็น “ทั่วเมือง” มีรายได้และกำไรดีและสม่ำเสมอมากจนน่าทึ่งในขณะที่มีหนี้ค่อนข้างน้อยซึ่งอาจจะแสดงว่าสามารถสร้างและขายได้หมดเร็วไม่มีการสต็อกที่ดินมากหรือขายบ้านช้า  ราคาหุ้นนั้นถูกแต่ค่อย ๆ ไหลลงอย่างช้า ๆ มาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา  ค่า PE PB D/P อยู่ที่ 6.4  0.94 เท่า และ 6.1% ต่อปีในปีล่าสุดซึ่งดูเหมือนว่าปันผลจะจ่ายในอัตราน้อยกว่ารายอื่นเมื่อเทียบกับกำไรและราคาหุ้น ตัวที่ 6 คือหุ้น SIRI “เจ้าแห่งคอนโดหรู” ที่มีผู้ถือหุ้นกระจายมากจนแทบจะเรียกได้ว่า  “ไม่มีเจ้าของ” บริษัทค่อนข้างประสบความสำเร็จในเรื่องของผลิตภัณฑ์แต่รายได้และโดยเฉพาะกำไรนั้นไม่ค่อยดีนัก  คือกำไรต่อยอดขายดูเหมือนว่าจะต่ำกว่าบริษัทในระดับเดียวกันอานิสงค์จากต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคู่แข่ง  อาจจะเป็นเพราะขายให้คนรายได้สูงมากจึงต้องมีค่าการตลาดที่สูง  แม้ว่ารายได้และกำไรอาจจะดูดีมาตลอดแต่ราคาหุ้นกลับถดถอยลงอย่างต่อเนื่องทำให้หุ้นมีราคาถูกสุด ๆ  ในช่วงนี้โดยที่ค่า PE PB และ D/P อยู่ที่ 5  0.39 เท่า และ 9.4% ต่อปีตามลำดับ ตัวที่ 7 คือหุ้น ANAN นี่คือหุ้นของ  “คนรุ่นใหม่” ที่เน้นสร้างคอนโดติดรถไฟฟ้า  เป็นแนวคอนโดที่มีห้องขนาดเล็กที่สะดวกและจับต้องได้สำหรับผู้บริหารหรือคนมีเงินที่เป็นคนรุ่นใหม่  บริษัทเองก็เพิ่งเข้ามาสู่วงการไม่นานแต่ก็สร้างปรากฏการณ์การขายได้อย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ตาม  บริษัทก็เผชิญกับอุปสรรคอยู่เนือง ๆ  และทำให้กำไรไม่ค่อยสม่ำเสมอเหมือนผู้เล่นที่อยู่มานานรายอื่น  ผลก็คือ  ราคาหุ้นไหลลงมาตลอด  ภายในเวลา  2-3 ปีหุ้นตกลงมาถึง 70% กลายเป็น  “หายนะ”  ของผู้ถือหุ้น  บริษัทเองนั้นคงเน้นการเติบโตมากจึงมีการก่อหนี้ค่อนข้างมากและนี่ก็อาจจะเป็นจุดที่เสี่ยงเมื่อคำนึงถึงภาวะที่เลวร้ายของอสังหาฯ  อย่างไรก็ตาม  หุ้นก็มีราคาถูกมาก  ค่า PE PB และ D/P เท่ากับ 8  0.34 เท่า และ 6.9% ต่อปีตามลำดับ ตัวสุดท้ายที่ผมพอมีเนื้อที่ที่จะพูดถึงก็คือหุ้น  ORI นี่ก็คือหุ้นที่ใหม่ในวงการแต่โตเร็วมาแรงที่สุดในช่วงหลังนี้โดยอาศัยกลยุทธ์  คือ  โตจากชานเมืองเข้ามาในเมือง  ยอดขายโตขึ้นมาถึง 4-5 เท่าในเวลาเพียง 3-4 ปี  เช่นเดียวกับกำไรที่โตในระดับเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม  ราคาหุ้นของบริษัทเองนั้น  หลังจากที่ปรับตัวขึ้นแบบก้าวกระโดด  คือปีเดียวเติบโตขึ้น 6 เท่า  อาจจะเพราะคนตื่นเต้นกับการเติบโตในช่วงแรกจนทำให้ค่า PE สูงลิ่วกว่า 20 เท่า  หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลงมาเรื่อย ๆ  จนล่าสุดเหลือเพียง 4.1 เท่า ค่า PB ก็เหลือเพียง 1.3 เท่าจากที่เคยสูงเป็น 10 เท่า  และค่า D/P สูงถึงปีละ 9.8% จากที่ไม่ถึง 1% ต่อปี ทั้งหมดนี้ก็คือเมนูให้นักลงทุนได้เลือกซื้อได้อย่างสบายใจในช่วง “Property Grand Sale”  ซึ่งเป็นมาหลายปีจนแทบจะเรียกว่า “Low Price...

เศร้า-มืดมน-สิ้นหวัง

0
โลกในมุมมองของ Value Investor     29 กุมภาพันธ์ 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยตกลงมาหนักมากและน่าจะมากที่สุดในโลกคือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาจาก 1495 จุดในวันที่ 21 เป็น 1341 จุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 63 หรือตกลงมา 155 จุดคิดเป็น ประมาณ 10% และเมื่อคิดจากต้นปี ดัชนีตลาดหุ้นก็ตกลงมาถึง 15% แล้วและก็น่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ตกลงมามากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน  ทั้งหมดนี้นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโลกไวรัสโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่ากำลังจะกระจายไปทั่วโลก  และเนื่องจากประเทศไทยนั้นอิงกับการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่น  ตลาดหุ้นของไทยจึงตกมากกว่าประเทศอื่น  แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ได้พูดถึงก็คือ  หลายปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นหลัก ๆ ของโลกนั้นปรับตัวขึ้นดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นของไทยมาก  ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมานั้นดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเป็น New High หรือจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์เป็นว่าเล่น  ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นไม่ได้ไปไหนมา 6-7 ปีแล้ว  คนที่เล่นหุ้นหรือลงทุนนั้นต่างก็ขาดทุนกันอย่างหนักและรู้สึกเศร้าใจที่เห็นพอร์ตของตนเองลดลงมากในเวลาอันสั้น การที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่องและดูเหมือนว่ากำลังจะตกลงมาอย่างแรงในช่วงเวลานี้นั้น  ผมคิดว่ามีเหตุผลมากกว่าเรื่องไวรัสที่แน่นอนว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจในระยะเวลาอันสั้น  แต่ในที่สุดไวรัสโควิดก็น่าจะผ่านไปเช่นเดียวกับไวรัสตัวอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้น  ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น  การตกลงมาของหุ้นก็จะเป็นเรื่องชั่วคราว  หลังจากที่โลกสามารถควบคุมมันได้แล้ว  ราคาหุ้นของไทยก็จะดีดตัวกลับอย่างแรง  การลงทุนซื้อหุ้นที่ตกลงมามากก็อาจจะทำกำไรได้มหาศาล  แต่ถ้าการตกต่ำลงของหุ้นไทยมีเหตุผลมาจากเรื่องอื่น ๆ  ด้วยและเรื่องเหล่านั้นอาจจะ “ไม่ผ่านไป” หุ้นไทยก็อาจจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นโดดเด่นอย่างที่คิดแม้ว่าไวรัสจะสงบลงไปมากแล้วก็ได้ ผมเองได้เคยพูดไว้มากแล้วว่าประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้เศรษฐกิจจะไม่เติบโตเร็วอีกต่อไปและเป็นเรื่องของโครงสร้างประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วที่เรายังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้  ว่าที่จริงยังไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหาด้วยซ้ำ  ดังนั้น  การที่จะหวังผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวที่สูงอย่างในอดีตในตลาดหุ้นไทยนั้นน่าจะยาก อย่างไรก็ตาม  การได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและดีกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอื่นเช่น  การฝากเงินหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเป็นไปได้  ผมเองคิดว่าการที่จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยซักปีละ 6-7% แบบทบต้นในตลาดหุ้นไทยในระยะเวลาซัก 10 ปีข้างหน้าก็น่าจะพอใจแล้ว  นี่ก็สิ่งที่ผมคิดโดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ  นอกเหนือไปจากเรื่องของเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้จนถึงปัจจุบันทำให้ผมรู้สึกว่าอนาคตของประเทศไทยนั้นอาจจะไม่ได้สดใสและรื่นรมย์อย่างที่เราเคยเป็นมา  สภาวะแวดล้อมทางสังคมและการเมืองที่ค่อย ๆ  เกิดขึ้นหรือเผยออกมานั้นหลายเรื่องรุนแรงและกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่น้อยและดูเหมือนว่าการตระหนักหรือการแก้ไขอย่างจริงจังยังไม่เกิดขึ้น  หลาย ๆ  อย่างนั้นทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีความสุขน้อยลงและมีความเครียดมากขึ้น  อนาคตสำหรับหลายคนดูมืดมน  คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ  เราจะไปกันหรืออยู่กันอย่างไร?  จิตวิทยาที่คนและสังคมนั้นมักจะต้อง  “มีความหวัง” ผมคิดว่าตอนนี้น่าจะลดลง  บางคนอาจจะ “สิ้นหวัง” เพราะไม่รู้ว่าเราจะเดินไปทางไหน เรื่องของสังคมหรือความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น  เริ่มที่เรื่องของฝุ่นละอองในอากาศที่ดูเลวร้ายลงเรื่อย ๆ  และดูเหมือนว่าทุกปีก็จะต้องมีช่วงเวลาหนึ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตัวเองจากฝุ่นที่กระจายกันทั่วเมืองและเกือบทั่วประเทศ  ผมเองรู้สึกว่าชีวิตในช่วงที่ฝุ่นมาเป็นเวลาอย่างน้อยน่าจะ 2-3 เดือนต่อปีนั้น  เป็นชีวิตที่มีความสุขน้อยลงมาก  เงินทองที่มีก็อาจจะ “ซื้ออากาศที่สะอาด” ได้บ้าง  เช่น  เดินทางไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัดแต่ก็ทำได้ค่อนข้างจำกัดเพราะทุกคนก็ยังมีภารกิจที่ต้องทำอยู่  บางครั้งผมก็ถามตัวเองว่าเมื่อไรจะมีคนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  คำตอบดูเหมือนว่ารอจนถึงฤดูกาลเปลี่ยนเดี๋ยวมันก็หายไปเอง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นาน ๆ  ไปเดี๋ยวเราก็จะ “ชิน” กันไปเอง ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนไม่น้อยผมคิดว่ากำลังกลุ้มใจว่าธุรกิจของตนเองกำลังตกต่ำลงและไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรเพราะกำลังถูก Disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ  ที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญหรือยังไงก็ต้านธุรกิจขนาดใหญ่รุ่นใหม่ ๆ ไม่ไหว  รายได้และกำไรหดหายและบางทีอาจจะใกล้ที่จะไม่สามารถคืนหนี้ได้  พวกเขาจะทำอย่างไร  ข่าวการฆ่าตัวตายดูเหมือนจะมากขึ้น  จริงอยู่คงมีคนส่วนน้อยที่ทำแบบนั้น  แต่คนจำนวนมากที่มีปัญหาคงจะเครียดและก็อาจจะยังไม่เห็นทางออก  บางทีเขาอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตที่เคยชินมานาน  ที่พูดนี้รวมไปถึงชาวไร่ชาวนาซึ่งก็กำลังเผชิญกับภัยแล้วที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในปีนี้  พวกเขาคงกำลังเหนื่อยหนัก  แต่คำปลอบก็คือ  ปีหน้าคงไม่แล้งและชีวิตก็จะดีขึ้น  นี่ก็เป็นอะไรที่ดูเหมือนว่าจะวนเวียนเป็นวัฎจักรเพราะชาวไร่ชาวนาไทยนั้นชีวิตขึ้นอยู่กับฝนฟ้าเป็นหลัก ความแน่นอนมีน้อยมาก สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหนุ่มสาวและหลายคนกำลังจะเข้าสู่การทำงานหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย  ชีวิตในช่วงเวลานี้ดูเหมือนว่าจะไม่เอื้ออำนวยนัก  ธุรกิจที่ต้องใช้คนที่มีการศึกษาสูงจำนวนมากเช่นสถาบันการเงินต่างก็ไม่รับคนเพิ่ม บางแห่งปลดคนออกเนื่องจากธุรกิจซบเซาหรือการทำงานเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเทคโนโลยี  ผลก็คือ  หลายคนหางานไม่ได้หรือใช้เวลานานมาก  เป็นไปได้ว่าในที่สุดบางคนก็อาจจะต้องทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาตลอดกาลเพราะความรู้ที่เรียนมานั้น  ไม่จำเป็นอีกต่อไป ในด้านของการเมืองเองนั้น  ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าคนที่เกี่ยวข้องและสนใจการเมืองต่างก็“เครียด” ที่พบว่าการเมืองของไทยนั้นไม่ได้สร้างระบบที่คนส่วนใหญ่หรือทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ซึ่งก็คือต่างก็ยอมรับกฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกันโดยที่ไม่มีคนที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบตลอดกาล  ความแตกต่างทางด้านความคิดทางการเมืองของผู้คนนั้นก็ดูเหมือนว่าจะมากขึ้น   แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  มีความแตกต่างระหว่างคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่กับคนสูงอายุที่เป็นคนรุ่นเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งทำให้เกิดการเรียกร้องที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางและปรัชญาการปกครองไปในทางที่แต่ละกลุ่มต้องการซึ่งไม่เหมือนกัน  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  คนรุ่นใหม่ต้องการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้นในขณะที่คนรุ่นเก่าต้องการรักษาระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมรวมถึง“ความมั่นคง” ที่เคยเป็นเสาหลักในการปกครองของประเทศมาช้านาน  “การต่อสู้ทางการเมือง” ในช่วงนี้สำหรับหลายคนแล้วก็ดูเหมือนว่าเป็น  “ความมืดมน” ที่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน  ผมเองก็ได้แต่คิดว่า  ในที่สุดประเทศก็ต้องเป็นไปตามความคิดของคนรุ่นใหม่เพราะคนรุ่นเก่ายังไงก็จะต้องจากไปตามอายุ  แต่ก่อนจะถึงวันนั้น  เราจะต้องประสบกับอะไรบ้างที่อาจจะเลวร้ายและเราไม่ต้องการให้เกิด ผมยังไม่ได้พูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องเป็นล้าน ๆ คนต้องตกงานหรือทำงานน้อยลงเนื่องจากภาวะโรคไวรัสระบาดและความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ตามมา  ผมคงไม่มีเนื้อที่ที่จะพูดถึง  แต่คนเหล่านี้จะอยู่กันอย่างไรเพราะส่วนใหญ่ก็อาจจะมีหนี้เต็มอัตราไม่สามารถกูยืมเพิ่มขึ้นได้  ถ้าหากว่าเชื้อไวรัสไม่สงบลงภายในเวลาไม่กี่เดือน  ปัญหาคงตามมาอีกมาก  คนที่เศร้า มืดมน และสิ้นหวังอาจจะเพิ่มขึ้นมากจนรับไม่ไหว ในฐานะของนักลงทุนที่มีชีวิตอยู่มายาวนานพอสมควรและผ่านเหตุการณ์สำคัญและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของไทยมาหลายครั้ง  ผมคิดว่า  เหตุการณ์และสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับครั้งนี้ก็คือช่วงหลังปี 2519 ที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม  น่าจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบกับความเศร้าและไม่แน่นอนรวมถึงการไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหน อย่างไรก็ตาม  เราก็ผ่านมาได้เป็นอย่างดีในเวลาที่เร็วกว่าที่คิดมาก  ในครั้งนี้ผมเองก็คิดว่าเราก็คงจะต้องผ่านมันไปได้  ผมไม่เคยสิ้นหวังและยังคงถือหุ้นอยู่เต็มร้อยและอยู่ในประเทศไทยต่อไป-จนตาย  และผมก็คิดว่าคนหนุ่มสาวทุกคนต่างก็ยังไม่สิ้นหวังที่จะเห็นประเทศไทยที่รุ่งเรือง  งดงาม  และทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุขอย่างที่เคยเป็นมาหลายสิบปีในยุคของคนรุ่นผม

ลงทุนหุ้นปันผล

0
โลกในมุมมองของ Value Investor      22 กุมภาพันธ์ 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนานอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้  การลงทุนหรือเล่นหุ้นที่มีลักษณะของการเก็งกำไรร้อนแรงเพื่อหวังจะทำกำไรจากการซื้อขายเร็ว ๆ ดูเหมือนจะยากขึ้นเรื่อย ๆ   ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นรายย่อยและไม่มีข้อมูลพิเศษหรือไม่ได้เป็นรายใหญ่ที่ซื้อขายมากและมีพลังในการขับเคลื่อนราคาหุ้นมักจะขาดทุน   แน่นอนว่าในช่วงสั้น ๆ  ก็อาจจะกำไรบ้าง  แต่หุ้นอาจจะขึ้นเพียงไม่กี่วันก็ตกกลับลงมาและมักจะต่ำกว่าที่นักลงทุนรายย่อยเข้าไปซื้อ ดังนั้น  การเล่นหุ้นเก็งกำไรจึงเป็นกลยุทธ์ที่มักจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาแบบนี้ การเล่นหุ้น “เติบโต” ซึ่งเป็นกระแสการเล่นหุ้นของนักลงทุนไทยต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้เองก็ดูเหมือนว่าจะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ  ปัญหาก็คือ  หาหุ้นเติบโตจริง ๆ  ค่อนข้างยากในภาวะที่เศรษฐกิจไม่อำนวย  นอกจากนั้น  การเติบโตระยะยาวต่อจากนี้ก็น่าจะยากขึ้นอานิสงค์จากการที่ประชากรไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วเพราะคนเกิดน้อยลง  ทำให้ความต้องการสินค้าผู้บริโภคที่ไม่ใช่สินค้าไฮเท็คยุคใหม่น่าจะไม่ค่อยโต  ดังนั้น  หุ้นเติบโตที่คนเล่นกันในช่วงเวลานี้ก็มักจะเป็นการเติบโตชั่วคราวหรือไม่โตจริง   พอราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปซักพักตามผลประกอบการที่ดีขึ้นในช่วงสั้น ๆ  ปีสองปีก็ตกลงมาอย่างหนักเมื่อผลประกอบการเริ่มแย่ลงตามภาวะของอุตสาหกรรมหรือปัญหาของบริษัทเอง ดังนั้น  กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นเติบโตเองก็มีความเสี่ยงและเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงเนื่องจากราคาหรือค่า PE ของหุ้นที่สูงลิ่ว การเล่นหุ้น Defensive หรือหุ้นที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยนั้น  ในช่วงเวลาแบบนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ Defensive จริง  เหตุผลสำคัญก็คือ  ราคาของหุ้นบางกลุ่มบางตัวเช่นหุ้นในกลุ่มไฟฟ้า  พลังงาน หรือสาธารณูปโภคกลับแพงลิ่ว ค่า PE สูงถึงกว่า 50-60 เท่าขึ้นไปก็มี  ดังนั้น  ในแง่ของหุ้นแล้ว  มันไม่ Defensive เลย   ในภาวะที่ทุกอย่างไม่สดใส  การคาดหวังผลตอบแทนจากตลาดหุ้นแบบสูง ๆ  เกินกว่าปีละ 10% ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยาก  ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ  โดยเฉพาะการฝากเงินหรือการซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน  ผมก็คิดว่านี่คือเวลาที่เราควรหันมามองการลงทุนใน “หุ้นปันผล” ที่พอจะหาได้ในตลาดหุ้นแม้ว่าอัตราการปันผลเทียบกับราคาหุ้นอาจจะไม่ได้สูงมากนัก  หุ้นปันผลที่ให้อัตราผลตอบแทนปีละประมาณ4-5% ก็พอจะมีให้ลงทุนและมีจำนวนพอที่จะซื้อหลายตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงได้ ก่อนที่จะพูดถึงคุณสมบัติของหุ้นปันผลที่จะลงทุนผมเองอยากจะย้อนประสบการณ์ช่วงตลาดหุ้นเหงาหงอยและไม่มีใครสนใจการลงทุนในหุ้นในช่วงหลังปีวิกฤติ 2540 ที่ผมเริ่มเข้าตลาดหุ้นเต็มตัวและได้เขียนบทความลงในคอลัมน์โลกในมุมมองของ Value Investor ชื่อ  “ปันผลเป็นคำตอบสุดท้าย” ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2544 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว  ในบทความนั้นผมได้ยกตัวอย่างหุ้น 12 ตัวซึ่งทั้งหมดยังซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นทุกวันนี้  โดยผลตอบแทนจากปันผลหรือ Dividend Yield เฉลี่ยของ “หุ้นปันผล” 12 ตัว ในขณะนั้นก็คือ 8.23% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 2-3 % ต่อปีซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ผมแนะนำให้ลงทุนในหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามาก  ผมคงไม่ต้องบอกว่าถ้าใครลงทุนในหุ้นกลุ่มนั้นและถือยาวมาเรื่อย ๆ จะได้ผลตอบแทนรวมเท่าไร  เพราะดัชนีตลาดหุ้นในขณะนั้นคือประมาณ 300 จุด  และราคาหุ้นกลุ่มนั้นก็ปรับตัวขึ้นตามดัชนีที่ปรับตัวขึ้นเป็นประมาณ 1,500 จุด หรือ 5 เท่าของเดิม  หุ้นยังจ่ายปันผลเกือบทุกตัว  แต่ก็ไม่มีหุ้นตัวไหนกลายเป็นซุปเปอร์สต็อก สำหรับคุณสมบัติของ “หุ้นปันผล” ที่ผมคิดว่าจะปลอดภัยและจะได้ผลตอบแทนที่ดีในวันนี้ก็คือ ข้อแรก  มันจะต้องไม่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีหรือการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิตอล  หรือต้องสามารถอยู่ได้อย่างน้อยในช่วง 10 ปีข้างหน้า  ข้อ 2 ) ต้องเป็นบริษัทที่ “สามารถแข่งขันได้” ในอุตสาหกรรมของตนเอง  ถ้าเป็นผู้นำด้วยก็ยิ่งดี ข้อ 3)  เป็นบริษัทที่อยู่มานานและพิสูจน์แล้วว่าสามารถฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ  รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เลวร้ายมาหลายรอบแล้ว  ข้อ 4)  เป็นบริษัทที่มีกำไรที่ดีมา “ตลอด” นั่นคือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างน้อยเกือบ 8% ต่อปีขึ้นไปและในภาวะปกติก็จะได้กำไรและจ่ายปันผลอย่างสมเหตุผล  อาจจะมีบางปีที่ขาดทุนได้แต่ก็ต้องไม่มากและเป็นข้อยกเว้น  กำไรของบริษัทต้องค่อนข้างสม่ำเสมอ  ความผันผวนไม่สูงเช่น บวกลบไม่เกิน 20% เป็นส่วนใหญ่  ข้อ 5) ฐานะการเงินของบริษัทต้องมั่นคง  อัตราส่วนหนี้สินต้องไม่สูงเกินไปหรือเกินกว่าอัตราที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมเดียวกัน  ถ้าไม่มีหนี้ก็ยิ่งดี ข้อสุดท้าย ราคาหุ้นต้องไม่แพงหรือถ้าจะดีก็คือถูก  ถ้าวัดจากค่า PE ก็คือไม่เกินประมาณ 10-15 เท่า  วัดจากค่า PB ไม่เกิน 1-3 เท่า  วัดจากค่า Market Cap. ที่สมเหตุผลกับตัวธุรกิจและอุตสาหกรรม  และที่สำคัญก็คือ  ค่า Dividend Yield หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นควรจะต้องสูงอย่างน้อย 3-4% ต่อปีขึ้นไป ถ้าสูงถึง 5-6% ขึ้นไปได้ก็ยิ่งดี อย่างไรก็ตาม  ในประเด็นของข้อนี้  การพิจารณาอาจจะไม่ได้ดูเพียงปีเดียว  แต่ควรจะดูย้อนหลังไป 4-5 ปี เพื่อที่จะเห็นว่าหุ้นมีคุณสมบัติแบบนี้จริง  นอกจากนั้น  ในกรณีที่ปีนี้บริษัทหรือหุ้นอาจจะมีปัญหาบางอย่างแต่ถ้าดูแล้วในที่สุดหรือปีหน้าบริษัทก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม  แบบนี้ก็อาจจะยังถือว่าบริษัทเป็น “หุ้นปันผล” ที่จะให้ผลตอบแทนที่เป็นปันผลที่ดีได้ เมื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้นปันผลแล้ว  สิ่งที่จะต้องทำก็คือการติดตามเรื่องของความแข็งแกร่งของบริษัทที่จะยังสามารถรักษากำไรในระดับที่เพียงพอที่จะจ่ายปันผลได้ตามที่คาดในระยะยาว  แน่นอนว่าเราอยากเห็นผลประกอบการที่ดีขึ้นแต่ไม่ควรคาดหวังเพราะอาจจะทำให้เราเสียใจได้  เช่นเดียวกัน  การติดตามเรื่องของเทคโนโลยีที่อาจจะ Disrupt กิจการของบริษัทก็ยังต้องทำอย่างสม่ำเสมอ  เพราะนี่คือสิ่งที่จะอยู่กับโลกเราตลอดไป  และว่าที่จริงทุกธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีความเสี่ยงทั้งสิ้นที่จะถูกทำลายโดยแนวคิดใหม่  ดังนั้น  ทุกบริษัทและนักลงทุนก็ต้องระแวดระวังและปรับตนเองให้แข่งขันได้ การติดตามในเรื่องของราคาหุ้นนั้น  น่าจะเป็นเรื่องปกติและเราสามารถติดตามได้ทุกวันหรือทุกนาที  แต่สำหรับการลงทุนในหุ้นปันผลนั้น  เรื่องราคาจะต้องไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะจดจ่อกับมันมากนัก  เพราะวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกของเราก็คือ  เราหวังว่าจะได้ “ปันผลตอบแทน” ปีละครั้งหรือสองครั้งหรือมากกว่านั้น  ดังนั้น  สิ่งที่เราสนใจมากพอ ๆ  กันก็คือ  ปันผลเราจะได้ไหมเมื่อถึงเวลาและเราจะได้เพิ่มขึ้นไปอีกในปีต่อไปหรือไม่  ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ได้ปันผลและได้เพิ่มไปเรื่อย ๆ  ก็คือกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น  หรือไม่ก็มีการซื้อหุ้นคืนเพื่อลดจำนวนหุ้นและทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มและปันผลต่อหุ้นเพิ่มตาม  ดังนั้น  ราคาหุ้นในระยะสั้นวันต่อวันที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น  เราก็ไม่ควรจะสนใจมาก  เพราะในที่สุดแล้วถ้าปันผลเพิ่มขึ้น  ในระยะยาวราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มขึ้น  เราไม่ต้องกังวลหรือไปลุ้นกับราคาหุ้น  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ปันผลที่มาเป็นกอบเป็นกำนั้น  สามารถเพิ่มมูลค่าพอร์ตหรือความมั่งคั่งของเราเท่า ๆ  กับราคาหุ้นที่ขึ้นไปเช่นเดียวกัน  สำหรับหุ้นหลาย ๆ  ตัวแล้ว  ปันผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่ามากจนไม่จำเป็นที่ราคาหุ้นจะต้องขึ้นเลย  เพราะปันผลที่ได้รับอาจจะเกิน 7-8% ต่อปี ซึ่งถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นหรือการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ  

จบรอบหุ้นใหญ่แสนล้าน?

0
โลกในมุมมองของ Value Investor     15 กุมภาพันธ์ 63 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร วันศุกร์ ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์นั้น  สำหรับนักเล่นหุ้นแนวเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยคงเป็น “ช็อก” เล็ก ๆ  ที่เตือนให้รู้ว่า  “การลงทุนมีความเสี่ยง” ที่ทำให้ขาดทุนโดยไม่ได้คาดคิดได้  เพราะแม้ว่าดัชนีตลาดหุ้นจะลดลงเพียง 6 จุดหรือลดลงเพียง 0.42%  แต่หุ้นที่กำลังร้อนแรงกลุ่มหนึ่งที่วิ่งขึ้นโดดเด่นเกือบทุกวันรวมถึงช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 14 กลับตกลงมาประมาณ 3-5% ตอนปิดตลาด  เพราะสำหรับนักเล่นหุ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ดัชนีตลาดมักไม่ค่อยไปไหนและมีทิศทางลดลงแต่หุ้นกลุ่มดังกล่าวกลับปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  พร้อมปริมาณการซื้อขายที่สูงลิ่วและนักลงทุนลุ้นกันทุกวันว่ามันจะขึ้นไปถึงจุดไหนในหุ้นแต่ละตัว  นี่คือกลุ่มหุ้นที่ “พลาดไม่ได้” เพราะมันเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีเยี่ยม กิจการมั่นคงเติบโต  เป็นหุ้นที่มีขนาดหรือมูลค่าหุ้นเป็นแสนแสนล้านบาท ผมเองติดตามความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของตลาดหุ้นเกือบทุกวันเป็นเวลานานมากเท่า ๆ  กับที่อยู่ในตลาด ปรากฏการณ์ที่ผมเห็นมาตลอด 6-7 ปีที่ผ่านมาก็คือ  นักเล่นหุ้นส่วนบุคคลซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการซื้อขายหุ้นมากที่สุดขนาดที่บางคนซื้อขายกันทุกวันนั้น  จะหา “หุ้นร้อน” ที่จะเล่น  และในบางช่วงเวลาก็จะมีหุ้นร้อนที่มีธีมบางอย่างที่สามารถกระตุ้นให้คนสนใจเข้ามาซื้อขายหุ้นได้  บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตหรือกำลังได้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ของรัฐ  ทั้งหมดนั้นมักจะดำเนินอยู่ยาวนานพอสมควรอย่างน้อยก็เป็นปี  เมื่อเกิดกระแสหรือ“จุดติด”  แล้ว  หุ้นในกลุ่มนั้นก็จะปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ  พร้อมกับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างแรง  ราคาของหุ้นขึ้นไปเป็นร้อยหรือหลายร้อยเปอร์เซ็นต์จนคนทั้งตลาดซึ่งรวมถึงนักวิเคราะห์ต่างก็เข้ามา “ร่วมขบวน”  และต่างก็บอกว่าหุ้นก็จะไปต่อไปเนื่องจากพื้นฐานที่ดีของบริษัท วันที่ประชามติออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าหุ้นในกลุ่มนั้นทั้งกลุ่มมีราคาที่เหมาะสม  ก็มักจะเป็นวันที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุด บางครั้งก็เกิดขึ้นทันทีกับหุ้นทั้งกลุ่มเช่น  หุ้นตกลงมาทั้งกลุ่มโดยที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน  เป็นไปได้ว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นกับหุ้นบางตัว  หลังจากนั้นนักลงทุนอาจจะเริ่มตระหนักว่าหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่มีความคล้ายคลึงกันก็อาจจะเกิดขึ้นได้  คนหนึ่งขายหุ้นอย่างหนักหุ้นก็ตกทำให้คนที่จ้องมองอยู่ขายบ้างทำให้หุ้นตกเพิ่มขึ้นซึ่งก็ทำให้คนต่อไปทำเช่นเดียวกัน  ผลก็คือหุ้นตกลงมาเป็นแผงคล้าย ๆ  กับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันวาเลนไทน์  หลาย ๆ  ครั้งวันที่เกิดเหตุการณ์แบบนั้นมักจะเป็นวันใกล้วันประกาศงบการเงินประจำไตรมาศหรือประจำปี  เหตุผลอาจจะเป็นว่าหุ้นเหล่านั้นมักจะเป็นหุ้นที่เน้นแนวเติบโตสูง  การประกาศงบจะเป็นวันที่บอกว่าหุ้นโตจริงหรือเปล่า  คนที่มีข้อมูลภายในที่อาจจะรู้ว่างบไม่ดีอย่างที่คาดก็อาจจะขายก่อนและทำให้หุ้นตกมาแรงและทำให้ภาพของหุ้นทั้งกลุ่มเปลี่ยนแปลงไป  หลังจากนั้นหุ้นก็อาจจะไม่กลับไปดีมากอย่างที่เคย  แบบนี้เราเรียกว่า  “จบรอบ” ประมาณปี 2557 นั้น  เราได้เห็นหุ้นขนาดเล็กรวมถึงหุ้นในตลาด MAI หลายบริษัทปรับตัวขึ้นไปดีมากเป็นที่กล่าวขวัญของนักลงทุนว่าเป็นกิจการที่โตเร็ว  หุ้น IPO ขนาดเล็กเป็นที่ต้องการสูงมากเพราะคนจองได้กำไรเป็นกอบเป็นกำทุกตัว  อย่างไรก็ตามรอบของหุ้นเล็กนั้นก็จบลงน่าจะประมาณปลายปี 2557 และหลังจากนั้นก็ไม่ฟื้นเลย  เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าเรื่องราวหรือสตอรี่ของหุ้นตัวเล็กนั้นสร้างไม่ค่อยได้  และเมื่อผลประกอบการทยอยออกมาฟ้องว่ามันไม่ได้โตได้มากอย่างที่คิด  นักลงทุนที่ “ชาญฉลาด”  หรือคนที่  “ทำหุ้น” ก็รีบถอยโดยการขายหุ้นทิ้งทำกำไรไปก่อนที่ราคาจะไหลลงจนกลับขึ้นไปไม่ได้ ช่วงปี 2559-2560 เป็นเวลาของหุ้นขนาดกลางหรือกลางเล็กที่ผมเรียกว่าเป็นกลุ่ม “หุ้นนางฟ้า” ที่มักเป็นหุ้นสินค้าผู้บริโภคที่มีแบรนด์เนมดี  มีกำไรดี  มีฐานะการเงินเยี่ยม  และที่สำคัญมีสตอรี่ของการเติบโตจากตลาดใหม่ในต่างประเทศ  เหตุก็เพราะว่าหุ้นผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นอย่างนั้นในอดีต  แต่เหตุที่มันไม่ค่อย Perform หรือหุ้นไม่โตก็เพราะว่าหุ้นเหล่านั้นมักจะมีภาพของธุรกิจที่ค่อนข้างอิ่มตัวในประเทศ  การส่งออกหรือขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวจึงกลายเป็นสตอรี่ที่ทำให้กลุ่มหุ้นนางฟ้าวิ่งเป็นจรวด  ราคาขึ้นไปหลายเท่าในเวลาเพียง1-2 ปี  แต่หลังจากที่งบการเงินออกมาต่อเนื่องและฟ้องว่าไม่ได้เติบโตอย่างที่คาด  ราคาหุ้นก็ร่วงทั้งกลุ่ม  หุ้นจบรอบลงอย่างน่าเศร้าสำหรับนักลงทุนที่เข้าไปเล่นในยามที่ทุกอย่างดูสดใสและ “ไม่เสี่ยงเลย”  เพราะมันเป็นหุ้นที่ทุกคนรวมถึงนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศบอกว่ามันดี ล่าสุดก็คือกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าและอีกหลายตัวที่ผมมองดูมานานพอสมควรและเห็นว่ามีหุ้นอย่างน้อย 5 ตัวที่เป็นขวัญใจของนักเล่นหุ้น  รอบของ “หุ้นใหญ่แสนล้าน” นั้นน่าจะผ่านมาประมาณ 2 ปีแล้วคือตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา  โดยที่คุณลักษณะที่ร่วมกันของหุ้นกลุ่มนี้สามารถอธิบายเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้ 1) เป็นหุ้นที่ขณะนี้มี Market Cap. อย่างน้อย 100,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งกลายเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นหุ้นขวัญใจของนักเก็งกำไรที่ในอดีตชอบเล่นแต่หุ้นเล็กที่ราคามักวิ่งขึ้นเร็วกว่า  อย่างไรก็ตาม  หุ้น 5 ตัวนี้คือหุ้นที่วิ่งขึ้นเร็วมากจนไม่น่าเชื่อ  ราคาหุ้นขึ้นไปในเวลา 2 ปีหรือน้อยกว่านั้นโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 110% ซึ่งในอดีตนั้น  หุ้นใหญ่ขนาดนี้ขึ้นไปอย่างมากก็ปีละ 20-30% ก็ถือว่ามากแล้ว 2) Market Cap. ของ 5 บริษัทรวมกันจนถึงปัจจุบันประมาณ 900,000 ล้านบาท และในช่วงน้อยกว่า 2 ปีที่ผ่านมาได้สร้าง Market Cap. เพิ่มขึ้นประมาณ 530,000 ล้านบาท  นี่เป็นเม็ดเงินมหาศาลที่ทำให้คนที่เข้าไปลงทุนหรือผู้ถือหุ้นเดิมมั่งคั่งขึ้นมหาศาล 3) บริษัททั้ง 5 แห่งนั้นไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เติบโตเร็ว  แต่เป็นอุตสาหกรรม “พื้นฐาน” ที่น่าจะอิ่มตัวในประเทศ  แต่กำลังขยายไปต่างประเทศ  โดยที่กำไรที่ผ่านมาในอดีตนั้นอยู่ในระดับพอใช้เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้หรือส่วนของผู้ถือหุ้น   การเติบโตของกำไรที่ผ่านมานั้นอยู่ในระดับปานกลางถึงดีแต่ก็ไม่ได้โดดเด่นมากนัก  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าจะมีความคาดหวังสูงมากสำหรับการเติบโตของกำไรที่จะมาจากต่างประเทศเนื่องจากโครงการต่าง ๆ  “กำลังเดินหน้าอย่างรวดเร็ว” 4) หุ้นเกือบทั้งหมดนั้นมีค่า PE ที่สูงลิ่วเช่นเดียวกับค่าความแพงอื่น ๆ  เฉลี่ยหุ้น 5 ตัวมีค่า PE สูงถึง 53 เท่า 5) หุ้นทุกตัวนั้นแม้ว่าจะมี Market Cap. เป็นแสนหรือหลายแสนล้านบาท  แต่ Free Float หรือส่วนที่ถือโดยนักลงทุนที่จะซื้อขายหุ้นในตลาดคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่เท่า ๆ  กัน  เนื่องจากบริษัทมักจะเป็นกิจการที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมที่เป็นผู้ก่อตั้งถือหุ้นส่วนใหญ่อยู่  หรือไม่ก็เป็นบริษัทลูกของบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่ไม่มีนโยบายขายหุ้นในตลาด  และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้การซื้อขายของนักเก็งกำไรโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่ซึ่งอาจรวมถึงสถาบันอาจจะสามารถชี้นำราคาหุ้นได้ทั้ง ๆ  ที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาท คงต้องดูกันว่าหุ้นกลุ่มที่กล่าวถึงนี้จะมีคำว่า  “จบรอบ”  เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในหุ้นกลุ่มอื่น ๆ ในอดีตหรือไม่และจะเกิดขึ้นเมื่อไร  ประสบการณ์บอกผมว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากเมื่อคำนึงถึงระดับราคาของหุ้นและสตอรี่ต่าง ๆ  ที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้น  ผมเองเคยเห็นหุ้นขนาดแสนล้านบาทที่วิ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากบางทีแค่หมื่นหรือสองสามหมื่นล้านบาทมาอยู่เนือง ๆ  แต่ในที่สุดก็ตกลงมาแบบ  “หายนะ” เมื่อผลประกอบการไม่รองรับและค่า PE ที่สูงลิ่ว  ในครั้งนี้  ถ้าจะพูดว่าอาจจะมีบางตัวสามารถรักษาระดับราคาอยู่ได้ตลอดไปผมก็คิดว่ามีความเป็นไปได้   อย่างไรก็ตาม  ถ้ามองเป็นกลุ่มแล้ว  ผมยังคิดว่ารอบนี้ก็น่าจะเหมือนเดิม  คือมีวัน  “จบรอบ” ที่ราคาหุ้นตกลงมาอย่างน่าใจหาย  

หุ้นเวียดนาม: ดี-เลว-อัปลักษณ์ 2019

0
The Good, the Bad and the Ugly เป็นหนังคาวบอยอิตาลี ที่ทำให้คาวบอยอเมริกันถูกฝังตายมาจนทุกวันนี้...... เว็บวิจารณ์หนัง 3 สถาบันหลัก ให้คะแนนหนังเรื่องนี้สูงลิ่ว (IMDB 8.8/10 คะแนน , RottenTomatoes 97%, Metacritics 90%) แต่เดี๋ยวๆ นี่มันเพจหุ้นเวียดนามไม่ใช่เพจหนัง เราคงทำได้แค่เปรียบเทียบ...

4 ปีในตลาดหุ้นเวียตนาม

0
โลกในมุมมองของ Value Investor     21 ธันวาคม 62 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร             ผมเพิ่งตระหนักว่าตนเองได้เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามประมาณ 4-5 ปีแล้วด้วยเม็ดเงินกว่า 10% ของพอร์ตทั้งหมด  ในตอนนั้นวัตถุประสงค์ที่สำคัญก็คือการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของพอร์ตที่เป็นหุ้นที่อยู่ในตลาดหุ้นไทยทั้งหมด  ผมคิดว่าการลงทุนในประเทศเดียวนั้นมีความเสี่ยงกว่าการลงทุนในหลายประเทศและหลายตลาด  และตลาดหุ้นที่ผมเลือกที่จะไปก็คือเวียตนาม  เหตุผลก็คือ  ประเทศเวียตนามกำลังก้าวเข้าสู่ช่วงของการเติบโตสูงอานิสงค์จากการเปลี่ยนและเปิดประเทศจากสังคมนิยมเป็นทุนนิยม  เป็นประเทศที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวเยอะมาก  คนทั้งประเทศมีกว่า 90 ล้านคน  ค่าแรงของประเทศต่ำกว่าไทยครึ่งหนึ่งและเป็นประชากรที่มีการศึกษาดีขยันขันแข็ง  ผลการทดสอบ PISA Test ของนักเรียนได้คะแนนสูงเท่า ๆ ...

VI บูรณาการ

0
โลกในมุมมองของ Value Investor 14 ธันวาคม 62 ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร             คนที่เป็น VI “พันธุ์แท้” และเป็นมานานนั้น  ผมเชื่อว่าในที่สุดเขาก็จะขยายแนวความคิดและปรัชญาแบบ VI ออกไปจนครอบคลุมถึงทุกเรื่องในชีวิต  มุมมองต่อสังคม  ประเทศ และโลก   และดังนั้น  พวกเขาก็จะมีหลาย ๆ  สิ่งหลาย ๆ  อย่างที่คล้ายคลึงกันไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของโลก  นี่ก็คงเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าตัวเองชอบสไตล์การใช้ชีวิตและมุมมองในหลาย ๆ ด้านของวอเร็น บัฟเฟตต์ซึ่งเป็น VI พันธุ์แท้และเป็นไอดอลของผมและของ VI...

MOST POPULAR